RECOFTC ประเทศไทย
ข่าวสาร

เปิดตัว “พลเมืองสร้างป่า” เพื่อสร้างป่าจากเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ปลูกป่าล้านต้น โดยพลังพลเมืองทั่วไทย

การเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการปลูกต้นไม้และสร้างป่าให้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนทางตรงที่สามารถเริ่มได้ทันที รวมถึง รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการสร้างกระบวนการปลูกป่าที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางเพื่อให้ได้ป่าที่มีคุณภาพ
เวที “คน ป่าไม้ โลกร้อน” People and Forest Forum 2020 “ให้ป่าปกป้องโลก ให้คนท้องถิ่นปกป้องป่า”

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ตัวแทนจากชุมและภาคประชาสังคม ได้ร่วมเปิดตัว “พลเมืองสร้างป่า” อย่างเป็นทางการ ณ สวนองุ่น มาลิก กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการปลูกต้นไม้และสร้างป่าให้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนทางตรงที่สามารถเริ่มได้ทันที รวมถึง รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการสร้างกระบวนการปลูกป่าที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางเพื่อให้ได้ป่าที่มีคุณภาพ  และการปลูกป่าครั้งนี้มาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การค้นหาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นจากป่าของชุมชนและการลงมือปฎิบัติ เพื่อให้ได้กล้าไม้ที่มาจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี โดยจะนำไปปลูกในพื้นที่ที่ชุมชนดูแลและจัดการการใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้รักษาดูแลเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และเพาะกล้าไม้ท้องถิ่นด้วย

เวทีคนป่าโลกร้อน2020
(ซ้ายไปขวา)อธิวัฒน์ สุธรรม, นิพนธ์ วงค์กาฬสินธุ์, ธวัชชัย เกียรติเสรี, วัชรินทร์ จันทร์เดช และดร.ประวีณ จุลภักดี

“ภาคเหนือจะมีปัญหาเรื่องการเน้นปลูกพืชล้มลุก (ข้าวโพด) ในพื้นที่ป่าที่มีปัญหา จึงไม่มีความเชื่อมั่นหรือแรงจูงใจที่จะปลูกไม้ยืนตั้นอื่นๆ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความเชื่อนี้ให้ได้แล้วจึงจะสามารถปลูกป่าได้ อีกทั้ง ภาครัฐต้องปรับกฏหมายให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้จริง ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ถ้า “พลเมืองสร้างป่า” สามารถสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานได้มากขึ้น ชาวบ้านปลูกแล้วก็จะได้รับประโยชน์จริง รวมถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหารและการอนุรักษ์ก็ต้องทำควบคู่ไปด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะเกิดตามมา”  อธิวัฒน์ สุธรรม ตัวแทนภาคเหนือ กล่าวไว้บนเสวนาเปิดตัว “พลเมืองสร้างป่า จะสร้างป่าที่ยั่งยืนได้อย่างไร”ในวันเดียวกัน

ด้าน นิพนธ์ วงค์กาฬสินธุ์ ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่า ควรเริ่มจากการปรับความคิดของคนก่อน โดยต้องรู้สึกถึงต้นไม้ทุกต้นมีคุณค่า “ป่าเดิมต้องรักษา เพิ่มป่าใหม่ ขจัดความขัดแย้ง” โดยแนะแนวทางการดำเนินงานพลเมืองสร้างป่า คือ คงรักษาป่าเดิม (17%) และปลูกใหม่ผ่านพลเมืองสร้างป่า ยกตัวอย่างจังหวัดสกลนคร ได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ในยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานสะดวกขึ้น นอกจากนี้ งมีการดึงคนรวยในพื้นที่เข้าร่วมโครงการการปลูกป่าซึ่งเน้นว่า ให้ปลูกไม้ยืนต้น 50% ของพื้นที่ ที่เหลือจะปลูกอะไรก็ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ทุกอำเภอมีเรือนเพาะกล้า ซึ่งเป็นประโยชน์กับโครงการปลูกป่ามาก เพราะผลิตกล้าได้ 150 ล้านต้นในปี 2563  คิดว่า  การปลูกป่าและเข้าร่วมเป็น “พลเมืองสร้างป่า” นั้นจะทำให้พลเมืองมีส่วนร่วมมากขึ้น ป่าที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นเหมือนแบบเก่าที่ปลูกทิ้งๆ ขว้างๆ แต่จะเป็นป่าที่พลเมืองจะปลูก ดูแลและจัดการได้ด้วยตนเอง

เวทีคนป่าโลกร้อน2020

สำหรับกรณีของภาคตะวันออกนั้น  ธวัชชัย เกียรติเสรี ตัวแทนภาคตะวันออก ได้กล่าวถึงป่าชุมชนทางฝั่งตะวันออกว่าจะติดปัญหาตรงที่พื้นที่ป่าอยู่ภายใต้ EEC ต้นแม่น้ำของป่าตะวันออกไม่ได้อยู่ในเขต EEC และถ้ามีการกำหนดให้อยู่ในเขต EEC แล้วจะเป็นอย่างไร การเกิด EEC จะทำให้เกิดความเป็นเมือง แล้วจะบริหารจัดการป่าในเมืองอย่างไร เช่น ป่าสาระในระยอง  อีกข้อที่น่าเป็นห่วงคือ หมอยา หรือ คนที่รู้จักต้นไม้ทุกชนิดในป่าเริ่มจะหายไปหมดแล้ว ไม่มีการดูแลบุคคลากรเหล่านี้ และไม่มีคนรับไม้ต่อด้วย คนรุ่นใหม่ไปทำงานโรงงานกันหมด ภาคตะวันออกจะเน้นให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญของโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้  เนื่องจากหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานจะเน้นเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าโครงการสิ่งแวดล้อม

จากมุมมองและสถานการณ์ป่าชุมชนภาคตะวันออก ก็เคลื่อนลงมาที่ภาคใต้โดยมี ดร.ประวีณ จุลภักดี ตัวแทนภาคใต้ บอกเล่าสถานการณ์ ป่าชุมชนทางภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นป่าอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ มีป่าประเภทต่างๆ คือ ป่าต้นน้ำ ป่าบก ป่าพรุ ป่าชายหาด และป่าในทะเล การจัดการป่าในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้ง คือเรื่องเอกสารสิทธิ์  คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  อยากเน้นให้เรื่องการปลูกต้นไม้นั้นไม่จำเป็นต้องปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งสามารถปลูกตรงไหนก็ได้ ป่าเหมือนกัน อยากให้ชาวบ้านปลูกกันเป็นระดับปัจเจก โดยมองข้ามประเด็นเรื่องกฏหมาย (สิทธิ์ตามกฏหมาย) ไปก่อนเพราะอย่างไรก็ต้องมีการแก้กฏหมายอยู่แล้วในอนาคต อีกอย่างหนึ่งคือ ชาวบ้านมีจารีตอยู่แล้ว และการใช้จารีตในการจัดการป่าของคนท้องถิ่นนั้นสำคัญและมีความน่าเชื่อถือ  ดังนั้น แนวทางการปลูกป่าแบบ พลเมืองสร้างป่า ดีกว่าการปลูกป่าแบบเดิมที่เป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น  โครงการนี้จะทำให้ได้ป่าที่เป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งพื้นที่เป้าหมายแรกจะเป็นจังหวัดสุราษฎร์ ชุมพร และตรัง

เวทีคนป่าโลกร้อน2020

ตัวแทนท่านสุดท้าย วัชรินทร์ จันทร์เดช  จากภาคตะวันตก กล่าวถึง  การปลูกป่าแบบ“พลเมืองสร้างป่า” ดีกว่าการปลูกป่าแบบเดิม คือเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  และมีโอกาสสร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของแต่ละผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะช่วยกันทำงานอย่างไร กระตุ้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  โดยใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น  เพาะกล้า จัดการเรือนเพาะชำในท้องถิ่นเอง ซึ่งสร้างแรงจูงใจและคุณค่าของชุมชนท้อวถิ่นได้เป็นอย่างดี

เวทีคนป่าโลกร้อน
(ซ้ายไปขวา) ทีมฝึกอบรมประกอบด้วย  Dr.Stephen Elliott มช, ดร.ดำรง พิพัฒนวัฒนากุล มก., ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ ม.ทักษิณ และอ.นพพร นนทภา หัวหน้ากลุ่มขุนดง 

โครงการ “พลเมืองสร้างป่า” นั้นกำหนดเป้าหมายร่วม 38 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมถึงบุคคลทั่วไปทั้งในเมืองและต่างจังหวัดสามารถเข้าร่วมเป็น “พลเมืองสร้างป่า” นี้ได้ เนื่องจากการปลูกป่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรร่วมมือกันทำและลงมือทำทันที  ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนปลูกป่าจากกลุ่มขุนดง  โครงการชุมชนไม้มีค่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ “พลเมืองสร้างป่า” โดยผ่านการฝึกอบรมและคู่มือพลเมืองสร้างป่า

อีกโอกาสที่ไม่ควรพลาด! ร่วมเป็น “พลเมืองสร้างป่า” ฟื้นฟูป่าที่มีคุณภาพและยั่งยืน ลงมือทำจริง แก้ไขปัญหาโลกร้อน เริ่มได้ที่ทุกคน พร้อมได้รับการอบรมและเรียนรู้กระบวนการปลูกป่าด้วยตัวเอง  เพียงแค่กรอกใบสมัครเข้าร่วมพลเมืองสร้างป่าทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ (ดาวน์โหลดใบสมัคร ที่นี่)  ภายในวันที่ 28 ก.พ. 2563 นี้  สอบถามเพิ่มเติมและยืนยันการสมัครที่ คุณกัญจน์สุรีย์ ยิ้มสาลี โทร 092-404-9395 หรือคุณธัญยพร บังใบ โทร  086-975-5999

พลเมืองสร้างป่า - CITIZENS' FOREST

ภารกิจของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)