RECOFTC ประเทศไทย
ข่าวสาร

รีคอฟเปิดเผยผลสำรวจโควิดกับประชาชนในพื้นที่ป่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างมาก

การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ประชาชนทั่วโลกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2563 กระทั่งมีมาตรการล็อคดาวน์ถูกประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงงานด้านป่าไม้ต้องชะงักตลอดสองเดือนที่ผ่านมา

จากการสำรวจโดยแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) กับตัวแทนป่าชุมชนจำนวน 100 คนจาก 30 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางออนไลน์และทางโทรศัพท์ในเดือนเมษายน 2563 ระบุไว้ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของครอบครัว และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารออนไลน์เป็นอย่างมาก

แม้ในปัจจุบันประชาชนโดยทั่วไปจะสามารถซื้อและเป็นเจ้าของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอาจจะยังคงเป็นปัญหาอยู่ จากผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 61.62 ผู้ตอบแบบสอบถามประสบปัญหาสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ไม่เสถียร และไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ร้อยละ 17.17  ส่วนใหญ่เข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อชีวิตประจำวันและข้อมูลข่าวสารพื้นฐาน แต่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ต่อยอดในการทำงานได้มากเท่าไร เช่น ไม่เข้าใจวิธีการเข้าร่วมประชุมออนไลน์ หรือ ลงทะเบียนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ผลสำรวจโควิด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้งานระบบ 3G / 4G กว่าร้อยละ 50.51   ด้วยเหตุนี้ในภาวะของการล็อคดาวน์ภายใต้สถานการณ์ของโรคโควิด -19 นั้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและในพื้นที่ห่างไกลนั้นจึงเป็นข้อท้าทายประการสำคัญของการทำงานด้านป่าไม้ในระยะนี้  ส่วนประเด็นด้านค่าใช้จ่าย ความเครียด สุขภาพและการเลิกจ้างนั้นพบว่า ผู้หญิงให้ความสำคัญในด้านภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นนั้นเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนผู้ชายนั้นให้ความสำคัญด้านความเครียดและกังวลด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับหนึ่ง อีกทั้ง ผู้หญิงยังพบปัญหาการเลิกจ้างหรือถูกพักงานสูงกว่าผู้ชาย  ส่วนการเข้าไปสำรวจดูแลป่าชุมชนและเก็บผลิตผลจากป่านั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายนั้นมีความกังวลใกล้เคียงกัน เนื่องจากนโยบายล๊อคดาวน์

ผลสำรวจโควิด

ความลำบากทางเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด คือ การที่ชาวบ้านไม่สามารถออกไปค้าขายข้างทางได้เหมือนเดิม เนื่องจากอำเภอบ่อเกลือปิดสถานท่องเที่ยวและห้ามคนเข้าออก ส่งผลกระทบตรงต่อรายได้ครัวเรือนและชุมชน เพราะชาวบ้านเข้ามีช่องทางทำมาหากินทางเดียวคือขายของข้างทาง และบางชุมชนไม่สามารถไปรับของมาขายได้ทัน เพราะติดช่วง พรก.ฉุกเฉิน ส่วนที่รอพ่อค้าคนกลางมารับก็ขายไม่ได้เพราะไม่มีการอนุญาตให้เดินทางหรือสัญจร” เจ้าของร้านค้าข้างทาง อ.บ่อเกลือ จ. น่าน

“ ความกังวลเรื่องทำกินและหาของป่า ในช่วงที่ล๊อคดาวน์แบบเคร่งครัดนั้นได้มีการปิดหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทุกคนมีความกังวลสูง ส่งผลกระทบเรื่องทำกินโดยตรง เพราะบางชุมชนบางบ้าน มีพื้นที่ทำกินอยู่อีกที่ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดูพื้นที่ตัวเองได้เลย จนคลายล๊อคดาวน์ลง” เกษตรกรรายย่อยกล่าว

ส่วนในพื้นที่อ.บ่อเกลือนี้เท่าที่ทราบ การถูกเลิกจ้างยังไม่มี มีแต่ถูกพักงาน เพราะชาวบ้านบางส่วน ก็ไปรับจ้างเป็นแม่บ้านตามรีสอร์ท ทำให้บางส่วนต้องเปลี่ยนไปทำงานก่อสร้างหรือรับเหมารายวันแทน

ผลสำรวจโควิด

ขณะเดียวกัน นโยบายล๊อคดาวน์และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังส่งผลกระทบและเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการสำรวจถือครองที่ดินทำกินในเขตพื้นที่คุ้มครองทั้งอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ระบุให้ทำการสำรวจที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันหลังจากกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้  ซึ่งวันสุดท้ายคือ วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้หลายองค์กร หลายเครือข่ายได้ทำหนังสือแสดงความห่วงใยและขอให้มีมาตราการขยายเวลาในการสำรวจออกไป นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลของชุมชนต่อเรื่องการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง ประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.  และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนในพื้นที่ป่านั้นพบว่ามีข้อจำกัดในการติดตามและเข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์  ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจต่อถึงข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของคนที่ในเขตป่าอนุรักษ์เกือบ 4,000 ครัวเรือน จากข้อห่วงใยดังกล่าว ทางรีคอฟได้ติดตามและสอบถามกับหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทราบข้อมุลเบื้องต้นว่าทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเปิดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม โดยจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดห็นโดยตรง หลังจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ดีขึ้น และสามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้  ซึ่งประชาชนในพื้นที่ป่าควรต้องติดตามเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ขอขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_4137641

 

ผลสำรวจโควิด

ภารกิจของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)