RECOFTC ประเทศไทย
FLEGT Thailand

เฟล็กที-คืออะไร

เฟล็กที คืออะไร
เฟล็กที หรือ Forest Law Enforcement, Governance and Trade (FLEGT) คือ การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า เพื่อลดปัญหาการทำไม้และการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายโดยมี “แผนปฏิบัติการเฟล็กที” ที่บังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 เป็นตัวขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
แผนปฏิบัติการเฟล็กทีมีสาระสำคัญ คือ การห้ามจำหน่ายหรือนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป และการกำหนดให้ผู้ค้าผลิตภัณฑ์ไม้ในตลาดสหภาพยุโรปตรวจสอบและประเมินบริษัทคู่ค้า รวมทั้งเก็บบันทึกรายชื่อผู้จัดหา/ผู้จัดซื้อจัดจ้าง และรายชื่อลูกค้าทั้งหมดเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ

FLEGT1FLEGT2

แผนปฏิบัติการเฟล็กทีมีความยาว 32 หน้า ประกอบด้วยมาตรการหลัก 7 ข้อ คือ

1.ช่วยเหลือประเทศผู้ผลิตไม้:ให้การสนับสนุนด้านการเงินและเทคนิคแก่ประเทศผู้ผลิตไม้

2.ส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย:ป้องกันไม่ให้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดด้วยการทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเฟล็กทีด้วยความสมัครใจ (FLEGT Voluntary Partnership Agreements: FLEGT VPAs)กับประเทศผู้ผลิตไม้

3.ส่งเสริมการใช้ไม้ที่ถูกกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป: หน่วยงานของรัฐเป็นหนึ่งในผู้บริโภคไม้และผลิตภัณฑ์ไม้รายใหญ่ในสหภาพยุโรป แผนปฏิบัติการเฟล็กทีจึงผลักดันให้โครงการของรัฐใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีที่มาถูกกฎหมาย

4.สนับสนุนภาคเอกชน:ให้การสนับสนุนด้านการเงินและเทคนิคแก่ภาคเอกชนเพื่อทำให้ธุรกิจไม้ถูกต้องตามกฎหมายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

5.ร่วมมือกับสถาบันการเงินและการลงทุน:โน้มน้าวให้สถาบันการเงิน ธนาคารและผู้ปล่อยกู้ คำนึงถึงผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสิทธิในที่ดิน ในการพิจารณาเงินกู้สำหรับการลงทุนในภาคป่าไม้

6.การใช้เครื่องมือทางกฎหมาย: เดือนมีนาคม 2556 สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (EU Timber Regulation: EUTR)ซึ่งห้ามจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในสหภาพยุโรป นั่นหมายถึงว่าผู้ขายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จะต้องมีเอกสารที่ยืนยันได้ว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้นั้นมีที่มาถูกกฎหมาย แต่สำหรับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีใบรับรองเฟล็กทีจะถือว่าถูกระเบียบ EUTR โดยอัตโนมัติ 

7.จัดการปัญหาการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายของกลุ่มติดอาวุธ: สหภาพยุโรปตระหนักว่าเงินที่ได้จากธุรกิจการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายถูกนำไปสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในหลายประเทศทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงยืดเยื้อขยายวงจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคการตัดตอนความเชื่อมโยงของการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายกับกองกำลังติดอาวุธจึงเป็นหนึ่งในมาตรการหลักของแผนปฏิบัติการเฟล็กที

FLEGT3

หลังจากแผนปฏิบัติการเฟล็กทีบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 สหภาพยุโรปได้ริเริ่มกระบวนการเฟล็กทีใน 3 ภูมิภาค คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และยุโรปกับเอเชียเหนือ โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้ประสานงาน และดำเนินการปรึกษาหารือกับประเทศผู้ผลิตไม้รายใหญ่เช่น กานา แคเมอรูน คองโก แอฟริกากลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังได้ออกกฎหมายสำคัญขึ้นมา 2 ฉบับซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของแผนปฏิบัติการเฟล็กทีคือ

1) ระเบียบคณะมนตรียุโรปเรื่องเฟล็กที ว่าด้วยการออกใบรับรองเฟล็กทีและการเจรจากับประเทศผู้ผลิตไม้เพื่อลงนามในข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ  (Voluntary Partnership Agreements: VPAs) มีผลบังคับใช้ในปี 2548

2) กฎระเบียบการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (EU Timber Regulation: EUTR) ว่าด้วยการห้ามจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้ในปี 2556 ภายใต้กฎระเบียบนี้ ผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีใบรับรองเฟล็กทีจะได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดยุโรปได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนของ EUTR อีก

FLEGT4

เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอ และสหภาพยุโรปตอบรับการเจรจาแล้ว ประเทศนั้นก็จะถือว่าเป็น “ประเทศหุ้นส่วน” และมีหน้าที่จัดทำเนื้อหาของข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอ เช่น การทำนิยามของไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System: TLAS) โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคประชาสังคมจะต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จากนั้นจึงนำร่างข้อตกลงไปเจรจากับสหภาพยุโรป เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้วก็ลงสัตยาบันในข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายและเป็นข้อผูกพันที่ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

ขั้นตอนต่อไปหลังจากลงสัตยาบันข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอก็คือการนำระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้มาใช้ ซึ่งประเทศหุ้นส่วนจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์ไม้และออกใบรับรองว่าเป็นไม้ที่มีที่มาถูกต้องและอนุญาตให้ส่งออกได้
อย่างไรก็ตาม ใบรับรองความถูกต้องของไม้นี้เป็นใบรับรองในระดับประเทศเท่านั้น เป้าหมายสูงสุดของการเป็นประเทศหุ้นส่วนเฟล็กที วีพีเอ ก็คือได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้ออกใบรับรองเฟล็กที (FLEGT Licence) ซึ่งนั่นหมายถึงประเทศหุ้นส่วนจะต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการประกันความถูกต้องของไม้และการออกใบรับรองให้ได้ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป หากทำได้สำเร็จหน่วยงานในประเทศนั้นก็จะสามารถเป็นผู้ออกใบรับรองเฟล็กทีให้แก่ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ
แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีใบรับรองเฟล็กทีนี้จะได้รับการต้อนรับไม่เพียงจากตลาดสหภาพยุโรป แต่จากทุกประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ไม้ เนื่องจากเฟล็กทีถือว่าเป็นระบบการตรวจสอบที่มาของไม้ที่มีมาตรฐานสูงสุดที่มีอยู่ในขณะนี้
 
สถานะปัจจุบันของเฟล็กที

เดือนพฤษภาคม 2559 สหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานการประเมินความคืบหน้าแผนปฏิบัติการเฟล็กที[1] ซึ่งระบุว่าขณะนี้มีประเทศที่เริ่มเจรจาหรือลงนามในข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอกับสหภาพยุโรปแล้วทั้งหมด 15 ประเทศมีพื้นที่ป่าเขตร้อนรวมกันเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วโลกและเป็นแหล่งผลิตไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่นำเข้ามาขายในสหภาพยุโรป
15 ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจแบ่งตามภูมิภาคได้ดังนี้
• ทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ  ได้แก่ กานา กาบอง แคเมอรูน ไอวอรีโคสต์ สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐประชาธิไตยคองโก ไลบีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง 
•ทวีปละตินอเมริกา 2 ประเทศ ได้แก่ กายอานา ฮอนดูรัส
• ทวีปเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย ลาว
ใน 15 ประเทศหุ้นส่วนเฟล็กทีนี้ 6 ประเทศได้ลงสัตยาบันในข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอแล้ว คือ กานา แคเมอรูน สาธารณรัฐคองโกไลบีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และอินโดนีเซีย ตามลำดับ  และมีประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจา 9 ประเทศ คือ ไอวอรีโคสต์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กาบอง กายอานา ฮอนดูรัส ลาว มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ในจำนวน 6 ประเทศที่ลงนามในข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอ ประเทศอินโดนีเซียมีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ บังคับใช้ระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (TLAS) เรียบร้อยแล้ว และเมื่อเดือนเมษยน 2559 สหภาพยุโรปประกาศว่า อินโดนีเซียได้ทำตามเงื่อนไขของข้อตกลงเฟล็กที วีพีเออย่างครบถ้วน จึงเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้รับอนุมัติจากสหภาพยุโรปให้เป็นผู้ออกใบรับรองเฟล็กที (FLEGT Lincence) ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีใบรับรองเฟล็กทีจะส่งออกไปขายในสหภาพยุโรปได้ง่ายกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีใบรับรอง 

ประเทศไทยและลาวเป็น 2 ประเทศล่าสุดที่เข้าสู่กระบวนการเจรจาข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอกับสหภาพยุโรปในปี 2556 หลังจากนั้นยังไม่มีประเทศใดเข้าสู่การเจรจาเพิ่มเติม[2] ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหภาพยุโรปต้องการมุ่งพัฒนาเฟล็กที วีพีเอใน 15 ประเทศหุ้นส่วน กล่าวคือ พัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองไม้ใน 6 ประเทศที่ลงนามในข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอแล้ว และผลักดันให้ 9 ประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาพัฒนาไปสู่การลงสัตยาบันข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอโดยเร็ว

รายงานประจำปีขององค์กรประสานงานเฟล็กทีของสหภาพยุโรป[3]ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้ว่า แม้ว่าการพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองไม้ รวมถึงการเจรจาเฟล็กที วีพีเอใน 15 ประเทศจะมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจแต่เฟล็กที วีพีเอนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งด้านการเมืองและด้านเทคนิค จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา สหภาพยุโรปพบว่าอุปสรรคใหญ่ของข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอ คือ “ปัญหาด้านการเมือง” ไม่ใช่ด้านเทคนิค ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับฝ่ายการเมืองให้มากขึ้น

FLEGT5

เฟล็กทีกับประเทศไทย

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่เป็น “ประเทศหุ้นส่วนเฟล็กที” ฐานข้อมูลประเทศหุ้นส่วนเฟล็กทีของสหภาพยุโรปสรุปข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ว่า “ประเทศไทยมีป่าอยู่ประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ประเทศ ป่าธรรมชาติทั้งหมดที่เหลืออยู่ในขณะนี้ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ไม้ในประเทศไทยมีแหล่งที่มาจากสวนป่าหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา ลาวและเมียนมา ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ผลิตไม้ยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ส่งออกส่งเฟอร์นิเจอร์ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้รายใหญ่ไปยังตลาดในจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา”[4]

บทสรุปสั้นๆ นี้ทำให้เห็นความสำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของการซื้อขายไม้ของภูมิภาคและการแปรรูปเพื่อส่งออกสินค้าไม้ แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้อีกมากมาย ทั้งการลักลอบตัดไม้ การค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมาย ความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชนที่อยู่ในเขตป่า ไปจนถึงสิทธิของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากไม้ ความสำคัญของประเทศไทยในตลาดค้าไม้และปัญหาป่าไม้ที่ดินที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ล้วนเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกับเฟล็กทีมีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ การค้าไม้ การบังคับใช้กฎหมาย และธรรมาภิบาลการจัดการป่าไม้ที่นำเสนอต่อไปนี้จะช่วยให้เห็นได้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า ทำไมประเทศไทยถึงต้องร่วมขบวนเฟล็กทีและข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบต่อป่าไม้และผู้ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างไร
 
________________________________________
[1] Evaluation of the EU FLEGT Action Plan (Forest Law Enforcement Governance and Trade) 2004-2014, Final Version April 2016.
[2]ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม  2559
[3] Annual Report EU FLEGT Facility: Highlights and insights from 2015, 21 January 2016.
[4]http://www.euflegt.efi.int/thailand

 

คำนิยาม
1.การนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้
การนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้คือ การค้นหาข้อกำหนดทางกฎหมายที่มาจากกฎหมายของประเทศ โดยกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายเข้าร่วม ซึ่งคำนิยามนี้จะเป็นกรอบในการกำหนดว่าอะไรคือไม้ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งอยู่บนฐานของความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นคำนิยามจะกำหนดกรอบที่ชัดเจนว่าต้องมีหลักฐานอะไรที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้สามารถออกใบอนุญาต FLEGT นิยามความถูกต้องตามกฎหมายเป็นหนึ่งในห้าองค์ประกอบในระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมาย
คำนิยามทำอย่างไร

คำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้

องค์ประกอบของระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายได้แก่
1).นิยามความถูกต้องตามกฎหมาย: ให้ค้า นิยามสิ่งที่กำหนดตามกฎหมายและที่เป็นระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามและตรวจพิสูจน์ว่าเป็นจริงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ไม้เป็นไป ตามกฎหมายก่อนหน้าที่จะมีการออกใบอนุญาต FLEGT ให้
2).การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน: ระบบการแกะรอยติดตามไม้เพื่อช่วยแสดงให้เห็นว่าไม้นั้นมีต้นกำเนิด มาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายระบบการแกะรอยติดตามไม้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจากจุดที่ มีการเก็บเกี่ยวไม้หรือจุดนา เข้าไปจนถึงจุดส่งออก
3).การตรวจพิสูจน์: กระบวนการและขั้นตอนในการตรวจอย่างเป็นระบบว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งมวลในนิยามความถูกต้องตามกฎหมายและให้แน่ใจว่ามีการควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้
4).การให้ใบอนุญาต: กระบวนการในการออกใบอนุญาต FLEGT ในประเทศที่ทำข้อตกลงการเป็น หุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ ซึ่งยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ส่งออกไปนั้นผลิตขึ้นมาถูกกฎหมาย
5).การตรวจสอบที่เป็นอิสระ: การใช้ฝ่ายที่สามที่เป็นอิสระมาตรวจว่าทุกแง่มุมของระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายงานตามหน้าที่ที่ตั้งใจให้ทำ


2. องค์ประกอบของคำนิยาม
          สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับคำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ FLEGT ประเทศไทย
2.1 ไม้มาจากแหล่งไหน?
ประเภทที่ 1 ไม้มาจากที่ดินของรัฐ (ป่าสงวนแห่งชาติ) เช่น การให้เช่าที่ดินในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม
ประเภทที่ 2 ไม้มาจากที่ดินของรัฐ (นอกเหนือจากป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยาน) เช่น สปก.,นิคมสร้างตนเอง,ที่ราชพัสดุ
ประเภทที่ 3 ไม้มาจากที่ดินของเอกชน เช่น ที่โฉนด,น.ส.3 ก ฯลฯ
ประเภทที่ 4 ไม้มาจากการนำเข้า
2.2 หลักการอะไรที่บอกได้ว่า คือ ไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
2.2.1 สิทธิในการเข้าถึงที่ดิน ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย
2.2.2 การจัดหาไม้และการขนส่ง รู้ที่มาและตรวจสอบไม้ว่ามาจากแหล่งใดตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
2.2.3 การจัดการป่า /การตัดโค่นสวนป่าและด้านสิ่งแวดล้อม
                    -ไม่ใช่สวนป่าและไม่ใช่ไม้หวงห้าม
                    -ไม่ใช่สวนป่าและเป็นไม้หวงห้าม
                    -กฎข้อบังคับเกี่ยวกับโซ่เลื่อยยนต์
                    -การจัดการระบบนิเวศ
2.2.4 หน้าที่ทางด้านสังคม สิทธิแรงงาน ความปลอดภัยและสวัสดิการ
2.2.5 หน้าที่ด้านภาษี ธรรมเนียม ละค่าใช้จ่ายอื่นๆ
2.3 อะไรคือตัวตรวจพิสูจน์?
ใบอนุญาตเช่าที่จากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ อาทิ สปก./กรมป่าไม้ฯ
2.3.1 เอกสารแสดงสิทธิครอบครอง (ที่ดินเอกชน) เช่น น.ส.3, น.ส.3ก,น.ส.2 อื่นๆ  หรือสัญญาเช่า
2.3.2 ใบอนุญาตตัดโค่น
2.3.3 ใบอนุญาตเลื่อยโซ่ยนต์
2.3.4 รายงานการปลูกสร้างสวนป่า
2.3.5 สิทธิแรงงาน, การใช้แรงงานเด็ก
2.4 กฎหมายอะไรที่ใช้กำกับ?
-พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507
-ประมวลกฎหมายที่ดิน
-ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิช
-พระราชบัญญัติป่าไม้ 2484
-พระราชบัญญัติสวนป่า 2535,ปรับปรุง 2558
-พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ 2545
-พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541
-กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม 2557