RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

การฟื้นฟูป่าที่มีคุณภาพและยั่งยืนทำได้อย่างไร?

27 March 2020
ระวี ถาวร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย
หลักสำคัญของเนื้อหาในบทความนี้ มาจากสรุปเวทีเสวนา “การฟื้นฟูป่าที่มีคุณภาพและยั่งยืน ทำได้อย่างไร?” วันที่ 25 มกราคม 2563 ในงานเวที “คน ป่าไม้ โลกร้อน: People and Forests forum 2020”
Talk of the Forest
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย หากนำไปเผยแพร่ต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาภาพทุกครั้ง 

ปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูป่าคือแนวทางสำคัญที่ช่วยลดโลกร้อน

ประชาคมโลกมีเป้าหมายที่จะไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งภาคป่าไม้ก็มีความสำคัญ ซึ่งแนวทางหลักกล่าวคือ การรักษาป่าธรรมชาติที่มีเดิม และเพิ่มการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ โดยทั้งโลกตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 แสนล้านต้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องโลกเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองจึงมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านต้น ซึ่งนำมาซึ่งโจทย์หลักที่สำคัญร่วมกันคือ เราจะทำอย่างไรที่จะปลูกต้นไม้ ปลูกป่าให้มีคุณภาพและนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

การปลูกป่าคืออะไรและมีเป้าหมายอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานการปลูกป่าเบื้องต้นร่วมกันก่อนว่า “การปลูกป่าคืออะไร มีเป้าหมายเพื่ออะไร?” ซึ่งทางองค์กรบริหารจัดการเรือนกระจก หรือ TGO ให้นิยามการปลูกป่าคือ การเปลี่ยนแปลงที่ดินโดยกิจกรรมของมนุษย์โดยกิจกรรมของมนุษย์โดยการปลูกต้นไม้ เพาะเมล็ดพันธุ์ และ/หรือการส่งเสริมการเพาะเมล็ดตามธรรมชาติ ทั้งนี้อาจารย์ดำรง พิพัฒนวัฒนกุล จากภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่าก่อนที่จะปลูกป่าต้องพิจารณาว่าพื้นที่ที่จะปลูกนั้นว่าเคยเป็นป่ามาก่อน หรือ ไม่เคยเป็นพื้นที่ป่ามาก่อนในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา เช่น ทองหล่อซอย 3 ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองมามากกว่า 50 ปี จึงไม่ใช่พื้นที่ป่า ถ้าเราไม่สนใจเรื่องความสมดุลของนิเวศเราก็ไม่สนใจเริ่มปลูกป่า พอเราเห็นว่าระบบนิเวศเริ่มสูญเสียสมดุล สิ่งแวดล้อมไม่ดี มีมลพิษในอากาศ เช่น พีเอ็ม 2.5 กระตุ้นให้เราให้ความสำคัญและเริ่มสนใจปลูกป่ามากขึ้น เราปลูกป่าที่เคยเป็นป่ามาก่อนก็อาจจะไม่ยากเพราะมีต้นทุนเดิม แต่ถ้าที่ดินที่เราจะปลูกถูกใช้ประโยชน์จนกลายเป็นเมืองมันคงยากที่จะปลูกป่าซึ่งมีความท้าทายที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยปลูกป่า เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย หากนำไปเผยแพร่ต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาภาพทุกครั้ง 

การปลูกต้นไม้ หรือการปลูกป่าต้องตั้งเป้าหมาย ว่าปลูกไปเพื่ออะไร ซึ่งจะเป็นแนวทางการในการกำหนดรูปแบบ วิธีการ เทคนิคต่างๆ รวมทั้งการเลือกชนิดไม้ที่จะปลูกด้วย โดยการปลูกป่ามีเป้าหมายหลักๆ 3 ประการประการแรกปลูกเพื่อฟื้นฟูป่ามีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร  และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ประการที่สองปลูกเพื่อเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเพื่อสร้างรายได้จากผลผลิตเนื้อไม้ และผลผลิตต่างๆ จะเห็นในรูปแบบสวนป่า ประการที่สามปลูกเพื่อเป้าหมายหลายอย่าง หรือเอนกประสงค์ทั้งเพื่อเป็นแหล่งพืชอาหาร แหล่ง สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง และสร้างรายได้ จะเห็นในรูปแบบวนเกษตร ป่าครอบครัว เกษตรผสมผสานที่มีปลูกไม้ยืนต้นไม้ป่าแทรกปะปนในเรือก สวน ไร่ นา เป็นต้น

ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่านอกเขตป่าให้เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 40  ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในมาตรา 7 ของ พรบ.ป่าไม้ ก็เป็นโอกาสทางกฎหมายที่ส่งเสริมการปลูกป่าในภาคพลเมือง เพราะที่ผ่านมาเกือบ 40 ปี การปลูกต้นไม้ ปลูกป่ายังมีข้อจำกัด และดำเนินการโดยรัฐ และเอกชน แม้ว่าเป้าหมายในการปลูกป่าจะปลูกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าธรรมชาติ หรือปลูกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทั้งนี้ต้องพิจารณามีกรอบเวลาเป็นสำคัญ และที่สำคัญก้าวแรกที่เป็นหัวใจของการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าคือ การมีเมล็ดพันธุ์ไม้ที่ดี จากแม่ไม้ท้องถิ่นที่ดี ซึ่งนำไปสู่การมีต้นไม้ มีป่าที่ดีมีคุณภาพในอนาคต ดังนั้น 1 ล้านกล้าที่พลเมืองสร้างป่าจะเพาะกล้าไม้ท้องถิ่นก็ต้องให้เป็นกล้าที่ดี มีคุณภาพเพื่อเป็นการปูรากฐานสู่ความยั่งยืน

 

ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่า...(Forest restoration) ปลูกให้เป็นป่า…

ป่าธรรมชาติที่ได้รับการรบกวน ถูกทำลาย หรือเสื่อมโทรม แล้วต้องการให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิมมากที่สุด การปลูกป่าแบบนี้มีเป้าหมายคือ การฟื้นฟูป่า เช่น ป่าต้นน้ำ ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะ Dr. Stephen Elliott หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU) แลกเปลี่ยนว่า แม้ว่าจะมีเป้าหมายปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในเบื้องต้นก่อน แต่ระยะยาวก็จะตอบเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม

การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่านั้นต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างของป่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะโครงสร้างป่ามีความซับซ้อนยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น มีสัตว์ป่า มีมวลชีวภาพหรือพืชที่เอื้อประโยชน์ของการเป็นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า แมลงช่วยในการผสมเกสรทำให้ระบบนิเวศทำงานได้ก็จะเป็นป่าที่ดี ที่สมบูรณ์ ดังนั้นการประเมินพื้นที่ที่จะฟื้นฟูว่าต้นไม้เดิมอยู่มากน้อยเพียงไรโดยใช้เกณฑ์ไว้พื้นที่ต้องมีมีต้นไม้ที่เป็นทุน 500 ต้นต่อไร่ ถ้าสำรวจแล้วมีกล้าไม้มากกว่า 500 ต้นต่อไร่ในพื้นที่ก็เร่งกระบวนการให้ฟื้นฟูโดยธรรรมชาติ โดยการตัดหญ้า คลุมโคน ป้องกันไฟ หากมีต้นไม้น้อยกว่า 500 ต้นต่อไร่ ก็จะปลูกกล้าไม้เสริมโดยใช้ “ชนิดพรรณไม้โครงสร้าง” ให้ครบ 500 ต้นต่อไร่ ทั้งนี้จำนวนชนิดพรรณไม้โครงสร้างในการปลูกใช้ร้อยละ 5 ของจำนวนชนิดต้นไม้ทั้งหมดในป่าแต่ละประเภท ดังนั้นจำนวนชนิดพรรณไม้โครงสร้างจะแตกต่างกันตามประเภทป่า หลังจากปลูกแล้วต้องดูแลกล้าไม้ที่ปลูก  และต้องทำการติดตามผลเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่วิธีการเดิมใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะว่าต้องไปวางแปลงตรวจวัดต้นไม้ทุกแปลง  แต่ทุกวันนี้ใช้โดรนตรวจสอบติดตามผลของการฟื้นฟูป่า  ทั้งนี้รายะละเอียดการปลูกป่าเพื่อการฟื้นฟูป่าสามารถดาวน์โหลดและศึกษารายละเอียดได้จากคู่มือ “ปลูกให้เป็นป่า” ที่ www.forru.org

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย หากนำไปเผยแพร่ต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาภาพทุกครั้ง 

แม้ว่าการปลูกป่าแบบนี้มุ่งเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ฟื้นฟูความหลากหลายของพรรณพืช สัตว์ป่าให้กลับไปเป็นเหมือนป่าเดิมมากที่สุดในระยะแรก แต่เป้าหมายปลายทางระยะยาวคือการตอบสนองการใช้ประโยชน์ได้จากป่าของคนเราทั้งทางตรงเช่นผลผลิตจากป่า ของป่าต่างๆ  เช่น น้ำผึ้ง เห็ด พืชอาหาร การได้ใช้น้ำจากป่า ทางอ้อมเช่น การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และที่สำคัญป่าที่ฟื้นฟูนี้เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

 

สร้างป่านอกไพร...โดยการปลูกป่าพื้นถิ่นแบบปราณีต สไตล์ขุนดง

ปลูกป่าในพื้นที่นอกจากป่าธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปัจเจก พื้นที่ของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มขุนดง ที่มีอาจารย์นพพร นนทภา เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  จากการให้ความรู้ชาวบ้านที่จะถูกหลอกขายกล้าไม้โดยใช้สื่อออนไลน์ ต่อมาเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเมล็ดไม้ป่าผ่านเพจชื่อ “ขุนดงไม้พันธุ์ดี 24 ชั่วโมง” และยกระดับมาสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้การปลูกป่าผ่านเฟสบุคของกลุ่มขุนดง เฟสบุค โดยมีหลักการสำคัญๆ คือ “การปลูกป่าพื้นถิ่นแบบปราณีต” เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ รอดตายสูงและคุณภาพต้นไม้ดี  พิจารณาพื้นที่เดิมเคยเป็นป่าประเภทไหน เป้าหมายของคนปลูก และการมีกล้าไม้ที่มีคุณภาพ และเน้นให้รอดตายในช่วงปีแรก ปีที่สองเป็นสำคัญ ทั้งนี้มีขั้นตอนในการปลูกป่า 11 ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญเช่น  การคัดแม่ไม้พันธุ์ดี การเก็บและคัดแยกประเภทเมล็ด การเพาะกล้าโดยใช้วัสดุท้องถิ่นผสมเชื้อไมคอไรซ่าส์  การย้ายชำ การทำให้กล้าแข็งแกร่ง การเตรียมพื้นที่และหลุมปลูก การปลูก การดูแลต้นไม้ทั้งการคลุมโคน การให้น้ำ การกำจัดวัชพืชตัดหญ้าไม่ใช้สารเคมี การจัดการโรคแมลงตามหลักชีววิถี การตัดแต่งกิ่งทำให้สูงชลูดเปลาตรง  การตัดสางขยายระยะ ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ได้รวบรวมความรู้เพื่อขยายผลการเรียนรู้ผ่าน “โรงเรียนปลูกป่า” ที่ขอนแก่น ซึ่งจะสร้างนักปลูกป่าที่มีคุณภาพที่จะไปสร้างป่าที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยเน้นหลักชีววิถีและความพอพียงตามสไตล์ขุนดง ทั้งนี้สามารถติดตามเพจทางเฟสบุคซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการเพาะเมล็ดไม้ตามประเภทเมล็ด 11 ประเภท การดูแลต้นกล้า การปลูกต้นไม้ การล้อมไม้ รวมทั้งเทคนิคการดูแลต้นไม้ หรือ วนวัฒนวิธีได้ที่ “ขุนดง...พันธุ์ไม้ฟรี 24 ชั่วโมง”

 

ปลูกป่าในระบบนิเวศเฉพาะ...ต้องพิจารณาระบบนิเวศย่อยเป็นพิเศษ

ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงระบบนิเวศป่าบก แต่ยังมีระบบนิเวศที่เฉพาะที่ต้องการความรู้ เทคนิคเฉพาะในการปลูกป่า ทั้งนี้อาจารย์ ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้ความคิดเห็นว่าเดิมภาคใต้มีป่าหลัก ๆ อยู่สองสามป่าหรือป่าดิบชื้นและป่าชายเลนและป่าพรุบ้าง มีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้สูงมากเพราะเป็นรอยต่อของป่าสองผืนทวีป ดังนั้นในการฟื้นฟูป่าจึงมีตัวเลือกเยอะ เดิมนั้นทางภาคใต้มีป่าที่อุดสมสมบูรณ์มาก ต่อมามีการส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวเช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เกิดการขยายพื้นที่ทำการเกษตร นับตั้งแต่นั้นมาป่าและความหลากหลายทางชีวภาพหายไปอย่างมากรวมทั้งเปลี่ยนรูปแบบจากวนเกษตรดั้งเดิม เช่น สวนสมรม สวนผู้เฒ่า สวนดุซง ป่ายางผสมผสาน ที่เป็นแหล่งพืชอาหาร ยารักษาโลก  ไม้ใช้สอย แหล่งรักษาพันธุกรรมไม้ผลท้องถิ่น เมื่อเปลี่ยนระบบการผลิตส่งผลให้ต้องซื้อกินมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรามีป่าหย่อมป่าดิบชื้นเหลืออยู่จากการถูกบุกรุกเมื่อทิ้งไว้ 3-4 ปีก็ฟื้นตัวกลับมา ไม่ต้องไปทำอะไร ประหยัดมาก ภาคใต้ไม่ต้องพูดเรื่องการฟื้นฟูสภาพป่าขนาดใหญ่ ดังนั้นต้องตั้งเป้าหมายและกำหนดวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูป่าให้ชัดเจนก่อน เราต้องดูระบบนิเวศย่อยตรงนั้น แต่ละระบบนิเวศย่อยมีวิธีการปลูกวิธีการฟื้นฟูไม่เหมือนกันเพราะจะมีชนิดพรรณไม้เฉพาะ มีสิ่งแวดล้อมเฉพาะ ดังนั้นองค์ความรู้และเทคนิคเหล่านี้สำคัญ โดยเฉพาะป่าที่มีระบบนิเวศเฉพาะ เช่น ป่าพรุ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่สำคัญ ป่าพรุเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่สัมพันธ์กับระบบน้ำ ดังนั้นการจัดการระดับน้ำเพื่อทั้งในพื้นที่ฟื้นฟูป่า และเพื่อรักษาป่าเดิมนั้นมีความสำคัญ  นอกจากนี้ให้คำนึงถึงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกป่าส่วนใหญ่คือช่วงต้นฝนแต่ป่าพรุต้องต้นฝนหมด จึงจะได้ผลดี ดังนั้นการปลูกป่าในระบบนิเวศเฉพาะ จึงต้องใช้พิจารณาระบบนิเวศย่อยเป็นสำคัญเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จในการปลูกป่า

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย หากนำไปเผยแพร่ต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาภาพทุกครั้ง 

ตั้งต้นการปลูกป่าที่เมล็ดไม้พันธุ์ดี...สู่คุณภาพและความยั่งยืน

สิ่งที่สำคัญในการทำให้การปลูกป่าประสบความสำเร็จ มีคุณภาพและความยั่งยืน อาจารย์ทั้งสามท่านได้เน้นย้ำว่าเวลาจะปลูกต้นไม้ ต้องหาเมล็ดพันธุ์ไม้ที่ดี ตรงตามเป้าหมายการปลูกป่า สอดคล้องกับระบบนิเวศเดิม และสิ่งแวดล้อมปัจจุบันของพื้นที่ที่จะปลูก ปัจจุบันหลายคนปลูกต้นไม้โดยใช้เมล็ดที่ไม่ทราบที่มา ซื้อจากตลาดออนไลน์บ้าง จากบริษัทเอกชนบ้าง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีคุณภาพแค่ไหน แม่ไม้อยู่ตรงไหน

ดังนั้นสิ่งสำคัญของก้าวแรก “พลเมืองสร้างป่า” คือ ค้นหาแม่ไม้ที่ให้เมล็ดพันธุ์ที่ดี เพาะต้นกล้าที่มีคุณภาพ ของแต่ละท้องถิ่น 38 จังหวัด ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีชนิดไม้ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป เพื่อสร้าง 1 ล้านกล้าให้เป็น “กล้าที่ดี กล้าที่มีคุณภาพ” อันจะเป็นรากฐานสู่การปลูกป่าที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป