RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

บทบาทตัวแทนของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ ในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชน ภายใต้พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562

23 September 2020
กนกพร ดีบุรี และรัชดา อาภรศิลป์
การขับเคลื่อนเรื่องพ.ร.บ. ป่าชุมชน นั้นมีการผลักดันมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผ่านการยกร่างและปรับแก้มาหลายครั้ง จนท้ายที่สุดกฎหมายนี้ได้ประกาศใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 แม้ว่าพ.ร.บ.นี้จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถือว่าเป็นปักหมุดสำคัญของประวัติศาสตร์ป่าชุมชน ที่จะนำไปสู่ยุคใหม่สำหรับงานป่าชุมชนในประเทศไทย
In Focus
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
บทบาทตัวแทนของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ ในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชน ภายใต้พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562

หลังจากการประกาศใช้พ...ป่าชุมชน ในห้วงเวลาปัจจุบันภารกิจสำคัญของการนำกฎหมายไปปฏิบัติใช้คือการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ซึ่งจะมีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อที่ผ่านการสรรหาจาก 16 คนให้เหลือ 8 คน โดยเมื่อหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งกลไกในระดับจังหวัดต่อไป

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

แม้ภายใต้กลไกของพ...ป่าชุมชนจะเปิดโอกาสให้เกิดการเสนอรายชื่อของตัวแทนประชาสังคม ผู้นำป่าชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับภาครัฐอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่น่าจับตามองอีกประการคือโอกาสในการมีส่วนร่วมนี้ได้เปิดให้กับผู้คนทั้งหญิงและชาย กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงวัย เยาวชน ผู้ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากป่าต่างๆ ฯลฯ ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันเพียงใด  เพื่อให้การตัดสินใจตามกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนที่เป็นทางการทั้งสามระดับที่กำหนดไว้ในพ...ป่าชุมชน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด และคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน นั้นตอบสนองความต้องการและสร้างประโยชน์แก่ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม 

เพื่อเป็นการจุดประกายทางความคิดต่อประเด็นดังกล่าว บทความนี้จะนำเสนอ สถานะของผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนที่เป็นทางการ และแนวทางเสริมสร้างความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชายและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยข้อคิดเห็นส่วนใหญ่ที่นำมาวิเคราะห์ในบทความนี้นำมาจากเวทีเสวนาออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.. 2563 จัดโดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ)

สถานะของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ในงานป่าชุมชนในประเทศไทย

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจถึงสถานะของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ในงานขับเคลื่อนป่าชุมชน พบว่าฐานข้อมูลเครือข่ายป่าชุมชนที่ผ่านมาไม่มีการเก็บข้อมูลแยกตามเพศและกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น ข้อมูลจากการจดแจ้งเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดตามระเบียบกรมป่าไม้ พ.. 2562 ซึ่งประกาศรับรองแล้วบนฐานข้อมููลอิเล็คทรอนิกของส่วนภาคีเครือข่ายป่าชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.. 2563 ครอบคลุม 22 จังหวัด โดยตำแหน่งผู้ประสานงานหลัก หรือประธานคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งโดยผู้ชายทั้งหมด ในบรรดาเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดที่ได้รับการจดแจ้งแล้วเหล่านี้ มีเพียง 15 จังหวัดที่มีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ อีก 7 จังหวัดเป็นคณะกรรมการชายล้วน และมี 2 จังหวัด (นครสวรรค์ และยะลา) เท่านั้นที่ผู้หญิงได้รับเลือกเป็นรองประธาน นอกเหนือจากนั้น คณะกรรมการผู้หญิงส่วนหนึ่งดูแลงานเลขานุการ เหรัญญิก และประชาสัมพันธ์ จังหวัดลำปางมีจำนวนกรรมการผู้หญิงมากที่สุดคือ 8 ท่าน โดยจำนวนคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดที่จดแจ้งแล้วใน 22 จังหวัดนี้มีทั้งหมด 316 ท่าน และมีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการ 33 ท่านหรือเทียบเท่ากับ 10.44% สถิตินี้สะท้อนตัวเลขภาพรวมจำนวนผู้หญิงในสายปฏิบัติงานป่าชุมชนด้วย เช่น ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายป่าชุมชนที่จัดโดยสำนักจัดการป่าชุมชน เมื่อเดือนกันยายน พ.. 2562 มีผู้หญิงเข้าร่วมเพียง 10% จากผู้เข้าร่วมที่เป็นคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด สมาชิกเครือข่ายป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ศูนย์ป่าไม้จังหวัด และส่วนจัดการป่าชุมชนทั้งหมด 228 คน จึงพอจะประเมินได้ว่า แม้จะมีการจดแจ้งเครือข่ายป่าชุมชนครบทุกจังหวัด สัดส่วนตัวแทนผู้หญิงไม่น่าจะเกิน 10%

จากข้อมูลทางสถิติข้างต้นเมื่อไม่มีตัวแทนผู้หญิงเป็นประธานคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด จึงมีผลทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดนั้นมีเพียงประธานเครือข่ายชุมชนจังหวัดที่เป็นผู้ชายเท่านั้น โดยไม่มีการระบุถึงข้อมูลพื้นฐานชาติพันธุ์ของตัวแทนเหล่านี้ ทั้งนี้โอกาสในการเข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดของผู้หญิงมีอยู่ที่การไปสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากตัวแทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีจำนวนผู้หญิงในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ชาย จึงทำให้โอกาสที่ผู้หญิงจะได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กลไกการตัดสินใจระดับจังหวัดมีน้อย หรืออาจสมัครในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งขั้นตอนนี้ก็มีข้อท้าทายมากมายเช่น หากเป็นตัวแทนที่มาจากองค์กรภาคประชาสังคมต้องมีองค์กรรับรองที่จดแจ้งกับกรมป่าไม้ และพิสูจน์ความเหมาะสมตามคุณสมบัติ เป็นต้น ทำให้ไม่ค่อยมีผู้หญิงยื่นใบสมัคร แม้จะตื่นตัวและสนใจกันอยู่

ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนระดับชาติ แม้ผู้แทนประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดจะสามารถได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนระดับชาติได้ โดยมีที่นั่งไม่เกิน 4 ท่าน แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้หญิงนั้นยังเข้าไม่ถึงการเป็นตัวแทนระดับจังหวัด จึงทำให้เป็นไปได้ยากที่จะเห็นตัวแทนผู้หญิงได้มีที่นั่งเพื่อ นำเสนอความคิดที่หลากหลายและร่วมการตัดสินใจในกลไกนโยบายระดับประเทศด้วยตนเอง

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ข้อจำกัดที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกตามพ...ป่าชุมชนได้

ในระดับปฏิบัติการในพื้นที่เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันโดยทั่วไปว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในงานป่าชุมชนไม่น้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเข้าร่วมกิจกรรมป่าชุมชนอย่างแข็งขันและมีการปรึกษาหารือในกลุ่มผู้หญิงเมื่อต้องทำกิจกรรมร่วมกันผู้ชาย เช่น กิจกรรมบวชป่า กำหนดเวลาปลูกป่า ทำแนวกันไฟ  ฯลฯ ผู้หญิงมีความรู้เกี่ยวกับป่าจากวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะแหล่งอาหารจากป่า และสภาพพื้นที่ในป่า แสดงให้เห็นถึงการเป็นกำลังสำคัญในการดูแลจัดการป่าชุมชน แต่บทบาทที่เป็นทางการ อย่างเช่น การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการในฐานะตัวแทนของชุมชน และการเป็นตัวแทนของเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดนั้น ผู้หญิงมักถูกจำกัดด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมที่กำหนดให้บทบาทหลักของผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องครอบครัว ส่วนผู้ชายมีบทบาทนอกบ้าน ส่งผลให้พื้นที่ของผู้หญิงนั้นถูกจำกัดอยู่ที่งานเบื้องหลังในชุมชน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการเดินทาง และข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับคนต่างเพศ นอกจากนี้โครงสร้างการปกครองตามระบบรัฐ ที่จะมอบบทบาทการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐไว้ที่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นผู้ชาย บทบาทนี้จึงสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งรวมถึงเรื่องป่าชุมชนด้วย

 ข้อท้าทายที่ทำให้ผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นทางการได้ เพราะคณะกรรมการป่าชุมชนมักจะเป็นกลไกของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีผู้หญิงเข้าไปน้อยอยู่แล้ว แต่ในการปฏิบัติงานกว่า 80% ก็เป็นผู้หญิง อุปสรรค อาจเป็นเพราะคนในพื้นที่เชื่อถือผู้หญิงน้อยกว่าและภาระครอบครัวในบ้านที่จำกัดการเดินทางการไปร่วมประชุมของผู้หญิงนอกบ้าน” 

(ความเห็นของตัวแทนจากเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดตาก)

นอกจากนั้น ในมิติของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีจำนวนผู้แทนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าไปอยู่ในกลไกป่าชุมชนอย่างเป็นทางการมากน้อยเพียงใด แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (ได้แก่พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตคุ้มครองและสงวนพันธุ์สัตว์ป่า) ซึ่งยังไม่มีกลไกการตัดสินใจร่วมอย่างเป็นทางการ และไม่สามารถจัดตั้งป่าชุมชนภายใต้พ...ป่าชุมชน จึงทำให้สัดส่วนของผู้แทนป่าชุมชนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ในกลไกของคณะกรรมการป่าชุมชนทั้งระดับจังหวัดและระดับนโยบายนั้นมีอยู่อย่างจำกัด

ในมุมของนักวิชาการศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะของชาติพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการเข้าร่วมของผู้หญิง ส่งผลให้ผู้หญิงชาติพันธุ์ต้องเผชิญอุปสรรคซ้ำซ้อน เพราะนอกจากจะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายป่าไม้แล้ว ผู้หญิงยังต้องต่อสู้กับกระบวนการทางการเมืองและวัฒนธรรมความเป็นผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ไปในขณะเดียวกัน  ทั้งนี้การต่อสู้เพื่อมีบทบาทและประสบความสำเร็จในเวทีสาธารณะของผู้หญิงมักจะตามมาด้วยปัญหาทางครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงหรือการหย่าร้าง สุดท้ายผู้หญิงจะเลือกความสมานฉันท์ปรองดองในครอบครัวมากกว่า 

แนวทางส่งเสริมบทบาทและสถานะผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ในงานป่าชุมชน

การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาขับเคลื่อนงานเรื่องป่าไม้และป่าชุมชนเพิ่มขึ้นไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นพื้นฐานการดำรงวิถีชีวิตที่ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ของชุมชนที่พึ่งพิงป่าที่มีมาแต่ดั้งเดิม อย่างไรก็ดี การขยับบทบาทของผู้หญิงให้เข้าไปสู่กลไกการตัดสินใจ โดยเฉพาะกลไกทางการนั้น จะมีแนวทางในการส่งเสริมบทบาทนี้ของผู้หญิงได้อย่างไรบ้าง

ความเชื่อและประเพณีของชาติพันธุ์ดั้งเดิมคือว่าผู้หญิงต้องอยู่กับบ้าน ผู้ชายออกนอกบ้าน แต่ในตอนนี้ ผู้หญิงมีพัฒนาการเรียนรู้สิ่งที่ต้องทำมากขึ้น แม้ว่าผู้ชายจะไม่ได้ยอมรับทั้งหมด การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของผู้หญิงจะเน้นต้นทุนต่ำและประหยัด บางครั้งก็ยังมีข้อถกเถียงเพราะมุมมองหญิงชายต่างกัน ผู้หญิงอาจละเอียดกว่า เช่น เรื่องไม้ เมื่อก่อนผู้ชายอาจรู้มากกว่า แต่ตอนนี้ผู้หญิงก็รู้และเรียนรู้ไปด้วยกัน การใช้ไม้ทำสีย้อมผ้าตามฤดูกาล ทำบ้าน ทำสมุนไพร ผู้หญิงก็เรียนรู้พัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น บทบาทการอนุรักษ์ของผู้หญิงควรต้องได้รับการยอมรับมากขึ้น งานก็จะเดินไปด้วยกันและทำออกมาได้ดียิ่งขึ้น” (ความเห็นจากตัวแทนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์จากจังหวัดสุพรรณบุรี)

 

เมื่อมีการบังคับใช้พ...ป่าชุมชน ซึ่งทำให้เกิดกลไกที่เป็นทางการ ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมน้อย จึงมีข้อเสนอแนะจากเวทีเสวนาฯ ถึงแนวทางส่งเสริมบทบาทและสถานะของผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ ในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนที่เป็นทางการในระดับต่างๆ ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนมุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างพื้นที่การเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายหรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับป่าชุมชนของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนี้

ระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน และภายในชุมชน: สร้างความรู้และความมั่นใจในตัวเองในผู้หญิง การสร้างความเข้าใจต่อผู้ชายในครอบครัวและในที่ทำงานให้เปิดใจกว้างร่วมผลักดันให้หญิงชายมีบทบาทในการตัดสินใจร่วมกัน และส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้หญิงทำงานตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ

ระดับเครือข่าย: พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน และการหยิบยกประเด็นบทบาทหญิงชายมาหารือในเวทีต่าง ๆ ของเครือข่าย

ระดับกลไกเชิงนโยบาย: แก้ไขข้อกำหนดภายใต้พ...ป่าชุมชนในส่วนของประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด ที่โดยตำแหน่งแล้วจะเข้าไปนั่งในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนระดับจังหวัดและระดับนโยบายโดยอัตโนมัติ แต่เกือบทั้งหมดประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดเป็นผู้ชาย ดังนั้นควรเปลี่ยนจากประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดมาเป็นผู้แทนเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดแทน เพื่อเปิดช่องให้ผู้มีความสามารถทั้งเพศหญิง เพศชาย และกลุ่มชาติพันธุ์ มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าไปนั่งเป็นตัวแทนในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนที่เป็นทางการ

นอกจากนี้ ควรสร้างองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยด้านการจัดการ ที่จะช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าไปมีส่วนร่วมของทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มชาติพันธุ์ในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนภายใต้พ...ป่าชุมชน อย่างเช่น การประชาสัมพันธ์ข่าวสารการรับสมัครที่ทั่วถึง การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบและเอกสารประกอบการสมัคร ระยะเวลาของการเตรียมความพร้อมด้านเอกสารและการปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดสัดส่วนเพศและกลุ่มชาติพันธุ์ในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนในแต่ละระดับ

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

สิทธิการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของหญิงและชาย

จากการนำเสนอของคุณอุษา เลิศศรีสันทัด มูลนิธิผู้หญิง ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศสภาพนั้นคือสิทธิที่มีการรับรองทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ

นอกเหนือจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงสิทธิชุมชนและความเท่าเทียมทางเพศแล้ว (มาตรา 43 และ มาตรา 27 ตามลำดับ) ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of  Discrimination Against Women - CEDAW) ที่จัดทำขึ้นโดยสหประชาติ ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว 189 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารด้วยการให้สัตยาบัณเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 และมีผลใช้บังคับกับประเทศเมื่อพิธีสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2543 วัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฉบับนี้ คือ การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ รวมทั้งการประกันว่าสตรีและบุรุษมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติและดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคกัน ในข้อ 4 ของอนุสัญญาดังกล่าว บัญญัติไว้ว่า 1. การที่รัฐภาคีออกมาตรการพิเศษชั่วคราว ซึ่งมุ่งที่จะเร่งรัดให้มีความเสมอภาคที่แท้จริงระหว่างบุรุษและสตรี จะไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามที่ได้นิยามความหมายไว้ในอนุสัญญาฉบับปัจจุบัน แต่จะโดยประการใดก็ตามไม่ต้องมีการคงมาตรฐานอันไม่เสมอภาค หรือแบ่งแยกไว้ในฐานะเป็นผลที่ตามมา มาตรการเหล่านี้จะสิ้นสุดเมื่อได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของความเสมอภาคของโอกาสและการปฏิบัติ 2. การที่รัฐภาคีออกมาตรการพิเศษ รวมทั้งมาตรการที่มีอยู่แล้วในอนุสัญญาฉบับปัจจุบัน ซึ่งมุ่งที่จะปกป้องความเป็นเพศมารดาไว้จะไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และในข้อ บัญญัติว่ารัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง () เพื่อปรับปรุงแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมของบุรุษและสตรี โดยมุ่งที่จะให้ได้ขจัดความเดียดฉันท์และวิธีปฏิบัติอันเป็นประเพณีและอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง หรือที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทแบบเก่าสำหรับบุรุษและสตรี (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2551, หน้า 32)

ดังข้อ 4 และข้อ 5 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าอนุสัญญานี้เป็นกลไกกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญ อันจะช่วยให้รัฐออกมาตรการที่เอื้อให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกบริหารจัดการป่าชุมชนตามพ...ป่าชุมชน 2562 ได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง รูปธรรมของการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย คือการกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้หญิงในองค์ประกอบคณะกรรมการต่าง ๆ ซึ่งประเทศเนปาลคือตัวอย่างของการนำอนุสัญญานี้ไปใช้อย่างได้ผล โดยรัฐออกมาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชายในการจัดการป่าชุมชนที่กำหนดสัดส่วนจำนวนผู้หญิงในกลไกคณะกรรมการบริหารจัดการป่าชุมชนไว้ที่ 30-35% และต่อมาได้กำหนดเพิ่มขึ้นถึง 50% รวมทั้งการส่งเสริมจัดตั้งคณะกรรมการหญิงล้วนด้วย เนื่องจากพบว่าการมีผู้หญิงในกลไกตัดสินใจในการจัดการป่าชุมชนมีผลสำเร็จมากขึ้น

คุณอุษาได้ให้ข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยควรต้องพิจารณากฎหมายป่าไม้ต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายป่าชุมชนว่ามีมิติของการส่งเสริมความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชายมากน้อยเพียงใด และทำการศึกษาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมของผู้หญิงในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในกลไกคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด และกลไกคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ว่ามีความแตกต่างจากการดำเนินงานที่ไม่มีผู้หญิงเข้านั่งเป็นคณะกรรมการอย่างไรบ้าง เพื่อสร้างองค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย กำหนดทิศทางขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชายในงานป่าชุมชนต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นควรประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและกลไกคณะกรรมการบริหารจัดการป่าชุมชนทุกระดับให้รับทราบถึงมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและตระหนักถึงการมีบทบาทนำในการกำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชายในงานป่าชุมชน

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

บทสรุป

การดำเนินงานป่าชุมชนในยุคใหม่ภายใต้พ...ป่าชุมชน พ..2562 นั้นได้สร้างให้เกิดกลไกการบริหารป่าชุมชนที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันมากกว่าที่เคยเป็น  ซึ่งกลไกนี้จะนำพาให้เกิดความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น หากการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นนั้นอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมของทั้งหญิงชายและกลุ่มชาติพันธุ์นับตั้งแต่เริ่มต้น  เพื่อสะท้อนความต้องการและมุมมองของหญิงชายและกลุ่มประชากรในสังคมที่หลากหลาย โดยที่ซึ่งบทบาทของผู้หญิง และประเพณีแนวคิดของการจัดการป่าตามแนวคิดและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้ในสร้างพัฒนาการและการขับเคลื่อนงานป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังนั้นมีความโดดเด่นและมีกรณีตัวอย่างของผู้นำผู้หญิง หรือผู้นำชาติพันธุ์ที่ผลักดันงานอยู่เบื้องหลังหลายกรณี ซึ่งแต่มักจะอยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ การส่งเสริมให้ผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้ามีบทบาทในกลไกที่เป็นทางการ มากยิ่งขึ้นจะช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคในงานป่าชุมชนของของคนทุกกลุ่มบทบาทหญิงชาย บนฐานของมุมมองที่คำนึงถึงประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม ซึ่งจะถือเป็นการยกระดับงานป่าชุมชนให้ก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่งและเกิดประสิทธิผลในการขับเคลื่อนป่าชุมชนในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียนขอขอบพระคุณผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาออนไลน์ทุกท่านที่ไม่สามารถกล่าวรายชื่อได้ ที่ช่วยเสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการจุดประกายทางความคิดในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในขบวนการป่าชุมชน ซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้

 

เอกสารอ้างอิง:

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2551) หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, Convention on the Elimination of All Forms of  Discrimination Against Women - CEDAW: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรุงเทพฯ.

 

เว็ปไซต์:

ส่วนภาคีเครือข่ายป่าชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ https://www.forest.go.th/ppd/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1/

 

ผู้เขียน
1. กนกพร ดีบุรี ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ)แผนงานประเทศไทย

2.รัชดา อาภรศิลป์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ)

 

ภารกิจของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)