RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

ป่าชุมชนในมิติป่าพลเมือง ยุทธศาสตร์เชื่อมเมืองและชนบท

13 May 2019
กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ขบวนการป่าชุมชนได้สร้างประวัติศาสตร์ป่าไม้ภาคพลเมืองด้วยการคัดค้านสัมปทานไม้ นำมาสู่การพัฒนาแนวคิด รูปแบบ และการขับเคลื่อนนโยบายป่าชุมชนมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี สามารถสถาปนาหลักการสิทธิชุมชนทั้งในรัฐธรรมนูญ และสร้างการยอมรับทางสังคม แต่พลังการเคลื่อนไหวของชุมชนยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจรัฐได้
Perspectives
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ขณะที่ขบวนการป่าของคนเมือง ก็ยังเป็นหน่ออ่อนเริ่มต้น แม้จะเพิ่มบทบาทในการตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ก็ยังไม่สามารถยกระดับเครือข่ายให้มีพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้

 

การสานพลังขบวนการป่าชุมชนและขบวนการป่าของคนเมืองจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และกำหนดวาระทางสังคมได้ ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มเกิดแนวคิด “ป่าพลเมือง” เนื่องจากแนวคิด “พลเมือง” (citizen) มีนัยทางการเมืองที่กว้างขวาง ในด้านหนึ่งคือวางอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการจัดการป่าชุมชนเพื่อการดำรงชีพ เพื่อความมั่นคงอาหาร รายได้ และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีก็เป็นสิทธิมนุษยชนบนฐานชุมชน ในอีกด้านหนึ่ง “พลเมือง” ให้ความหมายถึงการมีสิทธิในเชิงกว้าง ทั้งสิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี สิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ มีส่วนร่วมกำหนด ตรวจสอบ และผลักดันนโยบายสาธารณะ นอกจากนี้ “พลเมือง” ยังครอบคลุมทั้งประชาชนในชนบทและภาคเมือง ครอบคลุมฐานชุมชนตามวัฒนธรรมไปจนถึงปัจเจกชน กลุ่มประชาสังคมอิสระ

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

เงื่อนไขปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของป่าชุมชนและพลเมือง การเคลื่อนไหวขบวนการป่าชุมชนและขบวนการป่าคนเมืองได้สะท้อนถึงเงื่อนไข ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายประการ ดังนี้

  1. รัฐและกลไกอำนาจรัฐ บทเรียนป่าชุมชนและป่าพลเมืองที่ชี้ให้เห็นโครงสร้างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์อย่างเข้มข้น “ป่า” เป็นพื้นที่อำนาจและผลประโยชน์ที่รัฐพยายามควบคุมผูกขาด รัฐเองได้ใช้กลไกทางการปราบปราม และกลไกทางอุดมการณ์ในการควบคุมและสร้างความชอบธรรมต่อการจัดการป่า แต่ระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐกำลังถูกสั่นคลอนจากการเคลื่อนไหวของป่าชุมชนและป่าเมือง ด้วยการเปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์มาเป็นระบบธรรมาภิบาลการจัดการร่วมระหว่างรัฐกับประชาสังคม ที่มีระบบบริหารเชิงซ้อน
  2. สถานะของกฎหมาย ในระบบรวมศูนย์อำนาจ รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการผูกขาดอำนาจจัดการพื้นที่ป่า แต่การเคลื่อนไหวป่าชุมชนและป่าพลเมือง กำลังทำให้เห็นว่า การใช้อำนาจทางกฎหมายของรัฐจะอ่อนพลังลงเมื่อขาดความชอบธรรมทางสังคม ทั้งการละเมิดสิทธิชุมชน การสร้างความไม่เป็นธรรม ความไร้ประสิทธิภาพในการปกป้องป่า และการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในด้านกลับกัน ขบวนการป่าชุมชนได้สร้างพัฒนาการด้วยการเสนอให้กฎหมายเป็นเครื่องมือการส่งเสริมสิทธิชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หากสามารถขยายไปสู่ขอบเขตสิทธิประชาชนและเชื่อมประสานให้ขบวนการป่าคนเมืองร่วมขับเคลื่อนจะนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่
  3. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสังคม และการสร้างความเป็นสถาบันให้สิทธิการจัดการป่าของประชาชน ขบวนการป่าชุมชนได้พัฒนาข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นเพื่อทำให้สิทธิชุมชนมีความเป็นสถาบัน และเป็นนวัตกรรมของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ก้าวหน้า และเป็นต้นแบบที่ขบวนการป่าคนเมืองสามารถนำไปออกแบบการจัดการเชิงสถาบันได้
  4. กระบวนการทางนโยบาย ขบวนการป่าชุมชนที่กำลังพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนนโยบายใหม่ๆ ได้ทำให้เห็นภาพของกระบวนการนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น กระบวนนโยบายไม่ได้จำกัดอยู่การผลักดันทางดิ่งจากระดับล่างสู่ระดับบน แต่เปิดพื้นที่การขับเคลื่อนนโยบายไปในแนวระนาบ และหากเชื่อมกับขบวนการป่าคนเมืองก็สามารถพัฒนากระบวนการนโยบายที่หลากหลายยิ่งขึ้น
  5. การสร้างวาระทางนโยบายและสังคม ขบวนการป่าชุมชนได้ใช้ประเด็นการปกป้องสิทธิชุมชนในการสร้างพลังทางสังคม ใช้มิตินิเวศท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน และวัฒนธรรมในการสื่อสาร แต่ก็มีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อกับสาธารณะ แต่เมื่อขบวนการใช้มิติเชิงรุกในการปกป้องป่าที่ให้บริการนิเวศแก่สาธารณะ และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐก็ทำให้พลังทางสังคมขยายตัวขึ้น และจากตัวอย่างของขบวนการป่าคนเมืองที่ใช้มิติสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนมีส่วนร่วม ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าการกำหนดวาระทางนโยบายและสังคมที่มีพลังต้องใช้มิติที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ สถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

 เงื่อนไข ปัจจัยทั้ง 5 ประการ นำมาสู่ความเข้าใจต่อเป้าหมายความเป็นประชาธิปไตย และความเป็นการเมืองของขบวนการป่าชุมชนและป่าคนเมืองที่แจ่มชัดขึ้น

ประชาธิปไตยบนฐานนิเวศและทรัพยากร ต้องเป็นประชาธิปไตยที่รับรองสิทธิในการจัดการทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการปกป้องนิเวศสาธารณะ โดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสังคม เกิดเป็นกลไกพหุภาคีเชิงสถาบันที่เปิดกว้างต่อการจัดการในหลากหลายรูปแบบ สร้างระบบการจัดการทรัพยากรร่วมที่ภาคีต่างเข้ามามีส่วนร่วมกำหนด และตอบโจทย์ของสังคมอย่างบูรณาการทั้งด้านนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไปพร้อมกัน

ความเป็นการเมืองที่เป็นเป้าหมายและปมขัดแย้งที่ขบวนการป่าชุมชนและป่าพลเมืองมุ่งบรรลุก็คือ อำนาจประชาชนในการปกป้องทรัพยากรสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน และประโยชน์ร่วมของสังคมจากบริการทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมจากการจัดการป่าที่ยั่งยืน