ป่าชุมชน: กลไกการตั้งรับปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ถึงแม้ว่าประเทศไทย ได้มีแผนแม่บทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2555-2593) ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์การตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ โดยวิถีเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในการปฏิบัติก็ยังต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคป่าไม้กับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สำหรับระดับท้องถิ่นนั้น ชุมชนต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดมา ซึ่งในภาคชนบทนั้น ป่าชุมชนได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกที่สำคัญและมีส่วนในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ป่าชุมชนสามารถช่วยและมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการปรับตัวของชุมชนภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่นป่าชุมชนช่วยและมีส่วนในการลดความเสี่ยงของชุมชนอันเกิดจากภัยพิบัติซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การกัดเซาะ การพังทลายของหน้าทะเล และการชลอการพังทลายของหน้าดินในพื้นที่สูง อันเป็นผลมาจากฝนตกหนัก นอกจากนั้น ในชุมชนที่มีการจัดการป่าชุมชน ชุมชนยังสามารถเข้าไปเก็บหาผลผลิตจากป่า ทั้งอาหาร และสมุนไพร เพื่อการยังชีพ และเป็นการเพิ่มรายได้ ซึ่งนอกเหนือจากรายได้จากภาคเกษตรหรือสถานการณ์ภัยแล้ง หรืออาจกล่าวได้ว่าป่าชุมชน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างมั่นคงทางอาหาร ในด้านของการจัดการ ป่าชุมชนเป็นกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งสถาบันชุมชน เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพ และเพิ่มทุนทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนั้นยังพบว่าป่าชุมชนที่ชุมชนมีการจัดการโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานนั้น ได้มีการประสบการณ์และวิธีการในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดี ทั้งในด้านการดำรงชีวิต การทำมาหากิน และการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้ยั่งยื่น เช่น การปรับรูปแบบการเกษตร รวมถึงระบบวนเกษตร การจัดโซนและประเภทในการเพาะปลูก และการค้นหาวิธีการใหม่ๆในการต่อสู้และปรับตัวต่อผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ้างอิง
- กรมป่าไม้ สำนักจัดการป่าชุมชน
- เครือข่ายป่าชุมชน -ประเทศไทย
- สำนักข่าวประชาไทย เรื่องป่าชุมชน
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- องค์กรที่ทำงานด้านป่าชุมชนต่างๆ
- ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า – ประเทศไทย