RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

เสวนาชี้ การป่าไม้ไทยต้องปรับแก้กฎหมาย ส่งเสริมปฏิบัติการท้องถิ่น เตรียมรับมือโลกร้อน

12 February 2020
โครงการ Voice for Mekong Forest (V4MF) ประเทศไทย
วงเสวนาหัวข้อ “การป่าไม้ไทยกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ชี้ให้เห็นความสำคัญของกฎหมาย นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการจัดการทรัพยากรป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เห็นถึงโอกาสและแนวทางสู่การตั้งรับปรับตัวและเท่าทันต่อสถานการณ์นี้  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมให้ข้อมูลและเสนอแนวทางการจัดการ และร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วม
In Focus
เวที “คน ป่าไม้ โลกร้อน” People and Forest Forum 2020 “ให้ป่าปกป้องโลก ให้คนท้องถิ่นปกป้องป่า”
เวที “คน ป่าไม้ โลกร้อน” People and Forest Forum 2020 “ให้ป่าปกป้องโลก ให้คนท้องถิ่นปกป้องป่า”

เมื่อวันที่ 24-25 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย เครือข่ายองค์กรภาคี และโครงการ  Voice for Mekong Forest (V4MF) ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ได้ร่วมการจัดเวที People and Forest Forum 2020 ณ สวนครูองุ่น มาลิก สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ ซึ่งมีวาระคน ป่าไม้ และโลกร้อน เป็นวาระประจำปี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ ชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐประเทศและตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอความสำคัญของป่าไม้ และบทบาทของการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในการผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี 2030 นั้นบรรลุผลตามที่คาดหวัง

“จากการที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตจำนงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 21 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. - 12  ธ.ค. 2558  ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามบูรณาการแผนทุกอย่างระดับประเทศ แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ได้ เพราะต้องบูรณาการทรัพยากรทุกประเภทร่วมกันทั้งเรื่องน้ำ ดิน ป่าไม้ รวมถึงต้องประสานความร่วมมือผ่านกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลไกเศรษฐศาสตร์ และกลไกการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การเรียนรู้ผ่านกรณีตัวอย่าง เรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขององค์กรบริหารส่วนตำบลแม่ศึก จังหวัดเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า สามารถให้มุมมองด้านวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมน่าจะเป็นลักษณะของอนุกรรมการหารือและคณะกรรมการระดับพื้นที่ กระบวนการขั้นตอนต้องใช้สมมุติฐานหลาย ๆ อย่าง”  คุณชมพูนุท ส่งข่าว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เวทีคนป่าไม้โลกร้อน2020

ทางด้านดร.สุจิตรา จางตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้กล่าวว่า “กรมอุยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้ประสานงานงานกลางในการดำเนินงาน REDD+ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลไกสากลที่มุ่งเน้นการหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าและการเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่า  ตอนนี้อยู่ในช่วงทำเส้นฐานอ้างอิงเพื่อมาเปรียบเทียบ และพิสูจน์ให้ได้ว่าลดก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหนและจะมีกลไกจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร รวมถึงมีการทำ Forest Monitoring System (ระบบการติดตามป่าไม้) ซึ่งจะมีตัวแทนองค์กรประชาสังคมเป็นกรรมการในนั้นโดยอาศัยหลักบูรณาการ Green Climate Fund (GCF) เป็นองค์กรจ่ายค่าตอบแทน เงินที่จะจ่ายค่าตอบแทนมีจำกัด GCF ต้องไปหาเงินมาจ่าย เฉพาะบราซิลก็จะได้มาก (จนไม่พอจ่าย) ชุมชนท้องถิ่นยังเป็นกรรมการอยู่ แต่ละชุมชนไม่ได้อยากได้เงินเสมอไป บางแห่งอยากให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เหมาะสมกับความต้องการ REDD+ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เน้นการหารือและได้ข้อสรุป ภาครัฐเป็นเพียงผู้ประสานงาน เป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ ชุมชนที่จัดการป่าดีก็มีอยู่เยอะก็มาทำเส้นฐานอ้างอิงและคำนวณเป็นค่าตอบแทน กระบวนการ REDD+ ให้เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมและออกแบบให้มีการหารือ ในทางเดียวกัน ปัญหาของกรมอุทยานฯ คือ การทำฐานข้อมูลให้เป็นระบบเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานเรดพลัส และกระบวนการมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นเรื่องการนำเส้นฐานอ้างอิงไปคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน”

เวทีคนป่าไม้โลกร้อน

สำหรับกรมป่าไม้กับโลกร้อนนั้น ทางผ.อ.นันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ได้แสดงความเห็นว่า “ถ้าเราหยุดยั้งการทำลายป่าได้ก็ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และหวังถึงความร่วมมือในอีกสามกลไกคือปลูกไม้มีค่า รักษาป่าชุมชน คนในป่า ปลูกป่าร่วมกัน อยากจะพูดถึงภารกิจที่ตัวเองทำคือป่าชุมชน มี 17,000 ชุมชน รักษาป่าชุมชน 15,000 แห่ง ที่จดทะเบียนมี 11,000 กว่าป่าชุมชนที่ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอน วันนี้ภาครัฐพยายามหากลไกให้ท่านมีสิทธิหน้าที่ตามกลไกคือการขับเคลื่อนพรบ.ป่าชุมชน แต่พรบ.ป่าชุมชนนี้ อาจแตกต่างกันกับพรบ.ป่าชุมชนที่พวกท่านเรียกร้องให้เกิดในช่วงอดีตที่ผ่านมา รัฐใช้กฎหมายมาแก้ไขปัญหาซึ่งต้องใช้กฎหมายหลายฉบับ 21,850 ชุมชนอยู่รอบเขตป่า เวลาพูดกันถึงภาวะโลกร้อนเราทำวิจัยมาได้ 61 งานวิจัย พบว่าป่าชุมชนกักเก็บได้ 6.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่ เราขายให้กับ CSR – สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร ถึงเวลาแล้วกรมป่าไม้ต้องมาคุยเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์กับประชาชนในเรื่องคาร์บอนเครดิต แต่ถึงอย่างไร กรมป่าไม้ก็มีข้อจำกัดคือการสร้างความรับรู้ และมีอนุบัญญัติที่ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องอาศัยภาคเอกชนมาช่วยสนับสนุนป่าชุมชนและได้การลดหย่อนภาษี แต่บางบริษัทก็ไม่สนใจเรื่องเงินแต่สนใจเรื่องเครดิตของการสร้างพื้นที่สีเขียว ให้ก้าวข้ามอดีตที่มีภาพจำไม่ดีมาสร้างความร่วมมือ”

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมได้ขึ้นเวทีเสวนาร่วม โดยมีคุณสันติชาติ ยิ่งสินสุวัฒน์ อบต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึง “ความเห็นจากพื้นที่ ตำบลแม่ศึกจังหวัดเชียงใหม่ คือ ชุมชนไม่สามารถรอการทำงานของภาครัฐได้ ทางชุมชนในพื้นที่จึงต้องจัดทำแผนแม่บทขึ้นมา โดยมีการสำรวจจำนวนเส้นทางน้ำ ว่าเดิมมีทางน้ำกี่สายปัจจุบันมีกี่สาย ปริมาณน้ำเป็นอย่างไร แผนแม่บทนี้เน้นการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ สามารถนำไปใช่ในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้ดี จึงอยากจะขอเชิญชวนภาครัฐ เข้ามาทำงานร่วมกันกับชาวบ้านโดยให้การสนับสนุนและร่วมใช้แผนแม่บทในการขับเคลื่อน”

และเพิ่มเติมจากมุมมองนักวิชาการด้านกฏหมายจากคุณประทีป มีคติธรรม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) “สภาวะโลกร้อนมีปัจจัยเสริมนอกเหนือจากสภาพธรรมชาติโดยตัวมันเอง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ ป่าไม้มีหลายมิติ เช่นมิติวัฒนธรรม ประเด็นเรื่องการสูญเสียพื้นที่ป่าถูกพูดมานานหลายเรื่องถูกผลักให้คนท้องถิ่นแบกรับปัญหาความขัดแย้ง สาเหตุของปัญหาหนึ่งคือการกระจุกตัวของที่ดินทำกิน มีกรณีศึกษาว่าการสูญเสียที่ดินทำกินในการเกษตรเป็นสาเหตุของการบุกเบิกที่ดินทำกินในป่า มีข้อขัดแย้งเรื่องคนอยู่ร่วมกับป่าได้หรือไม่ ในเชิงนโยบายมีแนวโน้มว่ารัฐยอมรับการอยู่กับป่าได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นจะทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสามเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายป่าไม้หลักคือพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มีการแก้ไขกฎหมายให้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ พรบ.ป่าชุมชน พรบ.อุทยาน แนวโน้มในการจัดการที่ดินมีเชิงบวก มีข้อแม้ว่าต้องมีการจัดการเขตที่ดินให้ชัดเจน และนำมาซึ่งความมั่นคงในการทำกิน การเพิ่มพื้นที่ป่าต้องไม่ผลักภาระให้คนในป่า แต่เราต้องคิดเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองกันด้วย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ มาตรา 64 และ มาตรา 65 จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร ถ้ากำหนดให้ไม้ที่ปลูกตามมาตรา 7 ในพื้นที่อนุรักษ์และที่ดินของรัฐอย่าง สปก.ได้ ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ ประเทศไทยจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สำหรับประเด็นข้อกฎหมายผ่านการต่อสู้มานาน และสามารถถกเถียงกันได้หากไม่ชอบใจพ.ร.บ.ที่ออกมา ตัวกฎหมายแม่อาจจะแก้ยาก แต่ตัวกฎหมายลูกเราสามารถร่วมกันจัดทำได้ ส่วนในระยะยาวเมื่อมีการใช้กฎหมายไประยะหนึ่งสามารถเสนอแก้ไขได้ หน่วยงานรัฐและประชาชนไม่ค่อยไว้ใจกัน เวลาออกกฎหมายจะควบคุมห้ามทำนี่โน่นนั่น ควรเปลี่ยนมาเป็นการเขียนกฎหมายให้ออกมาเป็นในเชิงส่งเสริม พลวัตรชุมชนเปลี่ยนไป อาจจะต้องมองชุมชนด้วยมุมใหม่ อีกเรื่องคือการปลูกป่า”

ภาพนี้สงวนลิขสิทธิ์สำหรับบทความนี้เท่านั้น
ภาพนี้สงวนลิขสิทธิ์สำหรับบทความนี้เท่านั้น 

ทุกวันนี้ ทุกคนคงหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ยาก ต้องปรับปรุงเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางผังเมือง การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องคิดกัน แม้ว่าจะปลูกป่าที่แอฟริกา แต่ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการทำลายป่าที่อะแมซอน กระแสการต่อต้านจะทำให้ปลูกป่าไม่ได้ตามเป้าหมาย การปลูกต้นไม้อย่างเดียวแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/สภาวะโลกร้อนไม่ได้ ต้องเน้นเรื่องการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการรักษาสมดุลเรื่องความเป็นธรรมในการบริหารจัดทรัพยากร แบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 

ดังนั้น บทสรุปที่จะนำไปสู่แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และความพยายามในการลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินกว่า 2 องศาเซลเซียสจากการเสวนาครั้งนี้ คือ การสร้างความร่วมมือของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง พร้อมทั้งให้ความไว้วางใจและความเป็นธรรมเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และการลดอุณหภูมิโลกระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับท้องถิ่น

ภารกิจของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)

 

ขอบคุณสื่อมวลชนและอ่านข่าวเวทีคน ป่าไม้ โลกร้อน เพิ่มเติมได้ที่

https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_3453075

http://www.voicetv.co.th/read/DVXyPo-Gv