RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

โค้งสุดท้าย 113 วัน การรักษาสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และเขตเก็บหาทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ทดแทนได้ของชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

07 April 2020
ระวี ถาวร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย
ตามมติ ครม. 26 พ.ย. 61 ได้รับรองมติของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งระบุให้กำหนดขอบเขตและรับรองสิทธิทำกินให้ชุมชนที่อยู่เดิมแต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ในเขตอนุรักษ์รวมทั้งอุทยานแห่งชาติและต่อมามี พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มารองรับนโยบายสู่การปฏิบัติซึ่งจะต้องมีการสำรวจ และตรวจสอบการถือครองที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยตามมาตรา 64 ใน พรบ.อุทยานแห่งชาติ  พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 ใน พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยบังคับใช้เมื่อ 25 พ.ย. 2562
In Focus
ค้งสุดท้าย 113 วัน การรักษาสิทธิในที่ดินทำกิน
Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย

จนถึงวันที่ 1 เม.ย.2563 ผ่านไปแล้ว 127 วัน เหลือเวลาในการสำรวจและจัดทำข้อมูลที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยเพียง 113 วัน ซึ่งวันสุดท้ายคือ วันที่ 22 ก.ค. 2563

นอกจากเขตที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยแล้วในพื้นที่อุทยานแห่งชาติยังต้องสำรวจแนวเขตพื้นที่ป่าและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ เช่น พืชอาหาร  พืชสมุนไพร ของป่าต่างๆ ซึ่งระบุในมาตรา 65 ก็ต้องสำรวจและจัดทำข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาเดียวกัน  ในส่วนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นกำหนดให้จัดทำเขตเก็บหาทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ไว้เช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุเงื่อนไขช่วงเวลาเหมือน พรบ.อุทยานฯ ให้ดำเนินการโดยพิจารณาตามความพร้อมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าร่วมกับชุมชน

รูปที่ 1 ระยะเวลาในการสำรวจที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นทีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
รูปที่ 1 ระยะเวลาในการสำรวจที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นทีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การดำเนินการสำรวจตามทั้ง 2 พ.ร.บ.นั้น หากพ้นระยะเวลานี้จะไม่มีการสำรวจอีก เพราะกฎหมายระบุไว้เป็นบทเฉพาะกาลซึ่งจะหมดไปตามเวลากำหนด เว้นแต่กฎหมายมีการแก้ไขเป็นอย่างอื่น ซึ่งการดำเนินการสำรวจข้อมูลในช่วงดังกล่าวนั้นมีความสำคัญมากๆ ต่อสิทธิชุมชนต่อวิถีการดำรงชีพ การทำมาหากิน และการใช้ทรัพยากรที่ทดแทนได้ ทั้งชุมชนในเขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หากมีการดำเนินการทันชุมชนก็มีสิทธิในที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยโดยเขตดังกล่าวจะสามารถทำกิน อยู่อาศัยได้ตามปกติคราวละไม่เกิน 20 ปี แต่ต้องจัดทำเป็นโครงการและออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีฎาซึ่งถือว่าเป็นการรับรองถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ในกฎหมายระบุให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าละพันธุ์พืชดำเนินการ หมายความว่าให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดดำเนินการ ทั้งนี้จะมีการปิดประกาศให้ชุมชนแจ้งความประสงค์ในการเข้าสู่กระบวนการสำรวจ แต่ถ้าหากไม่แจ้งความประสงค์ก็จะเสียสิทธิ์ในการสำรวจ และถึงแม้ว่าจะแจ้งความประสงค์สิทธิ์ในการสำรวจแต่หากการดำเนินการสำรวงจไม่ทันชุมชนก็จะเสียสิทธิ์ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดีในอนาคต หากกระทำดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การทำมาหากิน การทำการเกษตร ปศุสัตว์ในเขตที่ทำกิน และการเก็บหาทรัพยากรที่ทดแทนได้ในเขตป่าที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งโทษความผิดภายใต้กฎหมายทั้งสองฉบับมีความรุนแรงมากขึ้นทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

รูปที่ 2 ระยะเวลาในการสำรวจข้อมูลขอบเขตและชนิดของทรัพยากรที่ทดแทนได้ตามมาตรา 65 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ
รูปที่ 2 ระยะเวลาในการสำรวจข้อมูลขอบเขตและชนิดของทรัพยากรที่ทดแทนได้ตามมาตรา 65 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ

ตั้งแต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกบังคับใช้ พบว่าหลายอุทยานแห่งชาติ หลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ได้ร่วมกับชุมชน และภาคีในพื้นที่ดำเนินการสำรวจข้อมูลการถือครองที่ดิน บางแห่งจัดทำข้อมูลรายละเอียดในระดับชั้น จัดทำรายแปลง ที่เป็นปัจเจก บางแห่งจัดทำเป็นแปลงรวมแนบรายชื่อผู้ที่ทำกินร่วมกัน เช่น กรณีไร่หมุนเวียน บางแห่งจัดทำทั้ง 2 แบบ แต่อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีพื้นที่คุ้มครองหลายแห่งก็มีปัญหา อุปสรรคทั้งจำนวนบุคลากร เครื่องมือ รวมทั้งงบประมาณ ซึ่งปีนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ ออกมาช้าส่งผลต่อการทำงานของภาครัฐ และมิหนำซ้ำยังเจอสถานการณ์โรคโควิด 19 จนต้องออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโควิด-19 ทำให้การดำเนินการสำรวจภายใต้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับชะงัก ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการสำรวจพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือภายในวันที่ 22 ก.ค. 63 ก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนที่อยู่อาศัย ทำกินในเขตป่ากว่า 4,000 ชุมชน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสิทธิของชุมชน ควรมีมาตรการป้องกันรักษาสิทธิโดยทั้งนี้หากจัดทำเอกสารที่เป็นเอกสารต้นเรื่อง เป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถระบุเจตนารมย์ในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ภายใต้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ หากพ้นกำหนดช่วงดังกล่าวแล้วไม่สามารถดำเนินการทันได้จะได้มีเอกสารหลักฐานในการปกป้องสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น การฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองสิทธิ

ทั้งนี้จึงได้ร่างหนังสือแสดงความประสงค์ให้หน่วยงานดำเนินการสำรวจพื้นที่ตามที่กฎหมายระบุไว้ พร้อมดาวน์โหลดได้ตามด้านหมายเลขแบบฟอร์ม(ทางด้านขวามือของหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ ด้านล่างของหน้าจอมือถือ) ดังต่อไปนี้ 

1. ร่างแบบฟอร์มที่ 1 (มาตรา 64 และมาตร 65) สำหรับชุมชนที่อยู่อาศัย และเก็บหาพึ่งพิงทรัพยากรทดแทนได้ในเขตอุทยานแห่งชาติ

2. ร่างแบบฟอร์มที่ 2 (เฉพาะมาตรา 65) สำหรับชุมชนที่อยู่อาศัยนอกเขตอุทยานแห่งชาติ แต่มีเขตเก็บหาพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้

3. ร่างแบบฟอร์มที่ 3 (มาตรา 121 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562) สำหรับชุมชนที่มีที่อยู่ ที่ทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ทั้งนี้หากชุมชนใดที่ต้องการจัดทำเอกสารหนังสือเพื่อเป็นเอกสารต้นเรื่องในการปกป้องสิทธิก็สามารถนำร่างที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ตนเองไปดำเนินการจัดทำและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาสิทธิของตนเองต่อไป