รายงานพิเศษจากเสวนาออนไลน์ "ป่าชุมชนยังสำคัญหรือไม่ กับคนรุ่นต่อไป?"
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา รีคอฟ ประเทศไทยได้จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “ป่าชุมชนยังสำคัญหรือไม่ กับคนรุ่นต่อไป” ซึ่งกิจกรรมเสวนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาสาสมัครป่าไม้พลเมืองรุ่นใหม่ โดยมุ่งหวังให้อาสาสมัครเยาวชนไทยได้รับการส่งเสริมเรียนรู้เรื่อง “ป่าชุมชน” ตลอดจนสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการป่าชุมชนบนโลกออนไลน์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่แห่งใหม่ที่เชื่อมคนรุ่นใหม่ให้ใกล้ชิดป่าชุมชนยิ่งขึ้น
การเสวนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อบทบาทคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการบริหารจัดการป่าชุมชนในอนาคต โดยวงเสวนาได้รับเกียรติจากตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ และตัวแทนคนรุ่นก่อน ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับป่าชุมชนและการขับเคลื่อนกิจกรรมเยาวชน ได้แก่
- นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
- นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
- นางสาวปภาวิน พุทธวรรณะ นักข่าวป่าไม้รุ่นใหม่ ปี 2562
- นายธาวิน พิชญธานินกุล อาสาสมัครป่าไม้พลเมืองรุ่นใหม่ ปี 2564
โดยมีนางสาวศิริลักษณ์ แสวงผล สมาชิก Global Youth Biodiversity Network เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยนางสาวศิริลักษณ์ ได้เกริ่นถึงสถานการณ์ความขาดแคลนของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแย่งชิงการใช้ประโยชน์ทรัพยากร และนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมไทย รวมถึงธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรม สำหรับ “ป่าชุมชน”นั้น เป็นหนึ่งในแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน และเป็นพื้นที่ที่ชุมชนจะสามารถแสดงสิทธิในการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยข้อกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการป่าชุมชน ยังไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญที่คนทุกรุ่นจะร่วมมองหาแนวทางการจัดการป่าชุมชนต่อไปในอนาคตให้เกิดความยั่งยืน
ความสำคัญของป่าชุมชนในบริบทคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ต่างกันอย่างไร เริ่มจากคนรุ่นก่อน
นายเดโช ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กล่าวถึงความหมายของป่าชุมชนโดยภาพรวมซึ่งแตกต่างไปตามยุคสมัย โดยแต่เดิมนั้น ป่าชุมชน คือ ป่าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภายใต้กรอบจารีตประเพณี ต่อมาภายหลังมีการนำกรอบกฎหมายเข้าบังคับใช้ และเกิดการรุกล้ำจากภาคเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ป่าชุมชนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย และสร้างผลกระทบอย่างยิ่งต่อชุมชนที่พึ่งพิงอาศัยป่า นับตั้งแต่ปี 2534 จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของตนในการช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อศึกษาและยกร่างกฎหมายป่าชุมชนภาคประชาสังคม ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา
“ป่าชุมชนโดยความหมายทั่วไป คือ ป่าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ และชุมชนมีระเบียบกฎกติกาในการบริหารจัดการ เป็นทั้งเรื่อง ป่าชุมชนตามจารีตประเพณี หลังๆมาสู่ป่าชุมชนตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งทั้งสองนี้อาจไม่ลงตัวกันเป๊ะ เนื่องจากกรอบกฎหมายยังมีความยืดหยุ่นไม่เพียงพอตามความหลากหลายของวัฒนธรรม อาจทำให้ทั้งสองสิ่งนี้ไม่พอดีกัน ในช่วงที่เข้ามาแรกๆ เรียนจบอยู่ในช่วงรอยต่อการปิดป่า สัมปทานป่า เราใช้ป่าในลักษณะทางเศรษฐกิจมากจนเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ คนเรียกร้องว่า การบริหารฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียวไม่ยั่งยืน ตอนนั้นจึงรณรงค์ให้ปิดป่า พอปิดป่า มีหลายชุมชนที่อาศัยใกล้เคียงกับป่าจารีต โดนภัยคุกคามจากข้างนอกมากขึ้น คือ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นประโยชน์ทางธุรกิจ คือ การใช้ป่าจากนายทุน สัมปทานป่า สัมปทานเหมืองแร่ โรงโม่หิน หรือการปลูกสร้างสวนป่า ช่วงแรกในปี 2532 - 2534 บ้านห้วยแก้ว เชียงใหม่ เป็นจุดประกายที่ทำให้คนกลับมาสนใจว่า มีชุมชนที่พึ่งพาอาศัยป่าอยู่เยอะ มีการวิจัย และพบพื้นที่เยอะ จึงต้องมีกฎหมายรับรองสนับสนุน ตั้งแต่ปี 2534 จนเกือบ 30 กว่าปี กฎหมายป่าชุมชนจริงจึงปรากฎ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้ามากกว่าแรกๆ และมีหลายประเด็นที่กฎหมายยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ช่วงที่เข้ามาแรกๆมาช่วยชาวบ้านต่อสู้เรื่อง ศึกษายกร่างกฎหมาย” นายเดโชกล่าว
ความสำคัญของป่าชุมชนในบริบทคนรุ่นใหม่
นางสาวปภาวิน นักข่าวป่าไม้รุ่นใหม่ ปี 2562 เล่าว่า ถึงแม้ว่าตนจะเติบโตในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีพื้นที่ป่าไม้เยอะ แต่ตนไม่เคยมีความรู้เรื่องป่าชุมชนมาก่อน จนกระทั่งได้ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของป่าชุมชน รวมถึงบริบทสังคมปัจจุบันที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่นิยมเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น แต่ตนไม่สามารถสรุปได้ว่า พวกเขาจะไม่เห็นความสำคัญของป่าชุมชน การอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูง อาจไม่ได้ทำคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้นสุดท้ายแล้ว หากคนรุ่นใหม่อยากกลับสู่ชุมชน ป่าชุมชนยังสำคัญในการคงความเป็นชุมชนนั้นไว้
“ถึงแม้รุ่นหนูเป็นวัยหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่หนูไม่กล้าบอกว่า ป่าชุมชนสำคัญกับคนรุ่นใหม่เฉกเช่นเดียวกับหนู เชื่อว่า อาจมีคนรุ่นเดียวกัน ที่เติบโตในชนบท พึ่งพาเกษตร แต่อาจไม่ได้เข้าถึงการศึกษาที่ดีมากนัก หรือเจอปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการอาจไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตที่เขาจะพึ่งพาป่าชุมชน ที่มีความผันผวนผลผลิตทางการเกษตร การที่เขาจะเข้ามาทำงานในเมือง และไม่ได้มองความสำคัญของป่าชุมชน เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด สำหรับตัวหนูเอง ยุคนี้เป็นสมัยที่คนหนุ่มสาวสร้างตัวในเมือง แต่เมื่อเริ่มอิ่มตัวในความเป็นเมือง การที่ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากค่าครองชีพที่สูง อาจทำให้เขาอยากย้ายไปอยู่พื้นที่ที่ค่าครองชีพที่ถูกกว่าแต่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทำให้เกิดการกระจายอำนาจบริหารสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นมากขึ้น เพราะฉะนั้นป่าชุมชนยังคงสำคัญในการคงอยู่ของชุมชน ป่าชุมชนคือสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่า รัฐจะเชื่อใจชุมชนมากแค่ไหนในการที่ให้เขาจัดสรรและบริหารทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานของชุมชนเอง ป่าชุมชนยังคงไว้ในความเป็นพหุวัฒนธรรม และความเป็นชาติพันธุ์ ความเชื่อที่งดงามที่ไม่ควรสูญหายไป" นางสาวปภาวิน กล่าวถึงความสำคัญของป่าชุมชนต่อคนรุ่นใหม่
นายธาวิน อาสาสมัครป่าไม้พลเมืองรุ่นใหม่ ปี 2564 ได้ร่วมเน้นย้ำความสำคัญของป่าชุมชนต่อคนรุ่นใหม่ โดยนายธาวินเล่าว่า ตนเริ่มรู้จักป่าชุมชนเมื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากพบเจอสถานการณ์ไฟป่าขณะการเรียนรู้ลงพื้นที่ภาคสนาม จึงเกิดความสนใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยนายธาวินได้สะท้อนความสำคัญของป่าชุมชนในแง่มุมของความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพที่มนุษย์และป่าต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นการทำงานเพื่อสนับสนุนป่าชุมชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ได้เจอไฟป่าตอนลงศึกษาดูงานภาคสนาม ได้เกิดคำถามและความสนใจกับประเด็นนั้น ทำให้ได้คิดว่า จริงๆเสียงของเราที่จะสนใจและสนับสนุนเรื่องป่าชุมชนก็สำคัญ แต่เรื่องนโยบายจากภาครัฐ เอกชน เป็นขอบข่ายที่ช่วยสนับสนุนให้เสียงอนุรักษ์ใหญ่ขึ้นและยั่งยืน ป่าชุมชนสำคัญตราบใดที่เราต้องทำงานด้วยกัน ไม่สามารถทำงานคนเดียว ออกแบบหรือคิดคนเดียว ป่าชุมชนถ้าเรามองในมุมที่ว่าเราอยู่กับป่า บางคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าป่าชุมชนคืออะไร แต่ถ้ามอง ป่า คือเรื่องอุดมสมบูรณ์ เราใช้ทรัพยากรร่วมกันกับป่า ป่าได้ประโยชน์เราก็ได้ประโยชน์ ในมุมที่เราคิดถึงประโยชน์ร่วมกัน เราจะคำนึงถึงป่าชุมชนมากขึ้น ถึงแม้เราจะอยู่ชุมชนเมือง อาจเข้าถึงป่าชุมชนได้ยาก ป่าชุมชนเราสามารถเข้าถึงได้ด้วยการที่มีหน่วยงานร่วมกันทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเกี่ยวกับระบบนิเวศที่เราอยู่กับป่าชุมชน องค์ความรู้ที่เราอยู่ร่วมกัน และเราจะได้ประโยชน์ ป่าชุมชนจะอยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น” นายธาวินกล่าว
ทิศทางความสนใจของคนรุ่นใหม่ในป่าชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องและสำคัญอย่างไรต่อชีวิตคนรุ่นใหม่
นางสาวสุภาวดี ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวความสำเร็จของการมีส่วนร่วมจากคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นผลลัพธ์จาก “โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด (อาสาสมัครคืนถิ่น)” หนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครจากตัวแทนแต่ละชุมชนทั้งสิ้น 60 ชุมชน โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้นำความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของตนสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งในด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการต่อยอดทรัพยากรป่าชุมชนให้เป็นสินค้าชุมชน สามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนบ้านเกิดของพวกเขา ตลอดจนการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชุมชนในระยะยาวโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งนางสุภาวดี มองว่า เป็นแนวทางที่น่าส่งเสริมภายใต้สถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มกลับสู่ภูมิลำเนามากยิ่งขึ้น รวมถึงประเด็นท้าทายในการสร้างพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมออกแบบ และบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นป่าชุมชนของทุกคนในสังคม
“เริ่มเห็นเทรนที่คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมืองระยะหนึ่ง อยากกลับบ้าน เพื่อให้อยู่รอดในทางเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เช่น อาสาสมัครจบวิศวะ จ.อุบลราชธานี กลับไปอยู่ในชุมชน เขาเห็นว่าป่าชุมชนมีเม็ดกระบก จึงพัฒนาเป็นสินค้าชุมชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชน ป่าชุมชนไม่ใช่แค่มองในมิติเชิงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่ป่าชุมชนยังมองในเชิงชีวิต อาสาสมัครบางคนทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกระแสผลกระทบโควิดที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านเยอะ
ดังนั้น ป่าชุมชนเป็นพื้นที่สร้างโอกาส และเป็นพื้นที่สาธารณะในการสร้างการมีส่วนร่วมโดยการออกแบบป่าเพื่อคนในชุมชนและนอกชุมชน จากที่เห็นอาสาสมัครคืนถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในการรักษา และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ใช่แค่ความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่ในชุมชน แต่รวมถึงคนนอกชุมชนด้วย
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ออนไลน์ (โครงการของ RECOFTC) นอกจากเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลป่าชุมชนแล้ว ควรเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมออกแบบป่าชุมชนเพื่อคนทุกคน โดยการลงพื้นที่ภาคสนาม และบนระบบออนไลน์ (on-site and online) เพื่อนำไปสู่การออกแบบโดยคนในสังคม ซึ่งอาจเกิดนวัตกรรมสังคมต่อไปในอนาคต ประเด็นที่ท้าทาย คือ การออกจากกรอบชุมชนแบบดั้งเดิมผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่จะเข้ามาเติมเต็ม เราอาจได้ป่าชุมชนที่เป็นของคนทุกคน ซึ่งสำคัญกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สร้างรายได้มูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้โดยเปิดพื้นที่ให้เยาวชน” นางสาวสุภาวดีกล่าว
ประเด็นที่สำคัญต่อป่าชุมชนในอนาคต จากมุมมองคนรุ่นใหม่
นางสาวปภาวิน ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในอนาคต ได้แก่ 1) ความเข้าใจถึงความเฉพาะถิ่นของป่าชุมชนนั้นๆ เช่น วัฒนธรรม พืชพันธุ์และสัตว์ป่า ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกเอกลักษณะและชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชน 2) การเรียนรู้จากตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น โมเดลห้วยหินลาดใน ในการเปิดโอกาสและส่งเสริมศักยภาพเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารป่าชุมชน รวมทั้งร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และ 3) การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการผลักดันกฎหมายและนโยบายภาคประชาชน ที่เอื้อต่อการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยคนรุ่นใหม่สามารถปรับใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการขับเคลื่อนกฎหมายได้
“กฎหมาย นโยบายป่าไม้ มีความหลากหลายและซับซ้อน เช่น พื้นที่ป่าชุมชนในพื้นที่ป่าสงวน กฎหมายมีความทับซ้อนกัน ถ้ากฎหมายนโยบายของภาครัฐเอื้อกับการบริหารจัดการของชุมชนและปฏิบัติได้จริง จะทำให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของในพื้นที่นั้นจริงๆ อยากมีส่วนร่วมมากกว่าที่รัฐออกนโยบายสั่งให้ทำ ซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันกฎหมายนโยบายภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ.2562 คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม กฎหมาย นโยบายมากขึ้น
"ถ้าเรามีสื่อหรือประชาสัมพันธ์ใน social media (สื่อสังคมออนไลน์) เราควรให้ความรู้กฎหมายในรูปแบบที่ง่ายขึ้น และเรื่องสิทธิชุมชน ทำให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิ จะหวงแหนในพื้นที่มากขึ้น หากมีโอกาสได้ทำงานเรื่องนี้ อยากผลักดันในเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนยิ่งขึ้น ให้เราสามารถมีความเป็นมนุษย์ในพื้นที่ โดยที่เราไม่ต้องกลัวความเสียหาย หรือจะถูกริดรอนสิทธิอย่างอื่น” นางสาวปภาวินกล่าว
นายธาวิน ได้ร่วมเน้นประเด็นสำคัญของการผลักดันกฎหมาย และนโยบาย ที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามามีบทบาทได้ โดยเริ่มจากประเด็นเล็กที่ตนสนใจ รวมถึงเสนอแนะมุมมองต่อคนรุ่นใหม่ในการแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมที่จะสามารถส่งเสริมให้ชุมชน และป่าชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
สำหรับคนรุ่นใหม่ สามารถมีบทบาทในการผลักดันนโยบาย หรือข้อกฎหมายเล็กๆ อาจเริ่มจากกลุ่มเล็กและอาจใหญ่ขึ้นได้ เช่น เริ่มจากประเด็นที่สนใจใส่ใน change.org เป็นฟันเฟืองเล็กๆในการเปลี่ยนแปลงให้ป่าชุมชนดีขึ้นได้ การทำให้เยาวชนคำนึงถึงป่าชุมชน เราควรพยายามนำตัวเองเข้าไปหาป่าชุมชน อาจเป็นแง่ของการร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นสิ่งเล็ก แต่อนาคตอาจดีขึ้นได้ ถ้าเราเปลี่ยนทั้งหมด อาจต้องใช้เวลาพอสมควร
"สิ่งสำคัญไม่อยากให้เยาวชนจำกัดหรือมองมุมมองตนเองเท่านั้น ว่า ป่าชุมชนต้องเป็นแบบไหน เพราะแต่ละพื้นที่ป่าชุมชนแตกต่างกัน ทั้งสภาพภูมิอากาศ ความเชื่อ วัฒนธรรมต่างๆ ในฐานะประชาชนไม่ควรไปบอกว่า คุณต้องเป็นแบบนี้ แบบนี้มันดี ดีอีกที่ อาจไม่ดีอีกที่ ไม่ควรชี้นำและเปลี่ยนแปลงเขา แต่ควรมีส่วนร่วมในการรับฟัง เข้าใจและอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล บางทีอาจเกิดการพัฒนาขึ้น และทำให้ป่าชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล” นายธาวินกล่าว
บทบาทของคนรุ่นใหม่เพื่อป่าชุมชนในอนาคต
นายเดโช ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ได้กล่าวถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีส่วมร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชน ซึ่งสามารถทำได้ในหลากหลายมิติ เช่น การเชื่อมโยงท้องถิ่นให้ทันต่อสถานการณ์ระดับชาติ และระดับโลกมากยิ่งขึ้น โดยผ่านบทบาทการเป็นผู้ประกอบการ ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรในป่าชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมชุมชนปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เน้นแนวคิด Zero waste (ขยะเหลือศูนย์) ซึ่งสามารถตอบสนองประเด็นภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้ รวมถึงการส่งเสริมชุมชนเรื่องการผลักดันกฎหมายภาคประชาชน คนรุ่นใหม่สามารถช่วยชุมชนในการสื่อสารและต่อรองสิทธิ เพื่อเอื้อให้เกิดการบริหารจัดการป่าชุมชนได้อย่างเหมาะสมต่อบริบทพื้นที่
“ในมิติการใช้ประโยชน์ คนรุ่นใหม่สามารถมาในฐานะผู้ประกอบการ ต่อยอด เพิ่มมูลค่าป่าไม้ในมิติต่างๆ เป็นจาน เป็นชาม เพราะต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนเป็นการใช้พลังงานสะอาด โลกมันกำลังเปลี่ยนระบบ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะฉะนั้นป่าชุมชนในกระแสโลกที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สะอาดมากขึ้น และเป็น zero waste มากขึ้น โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะนำความรู้ไปเชื่อมโยงสู่ระดับโลกและสู่ประเด็นเล็กๆ หรือ ภาวะโลกร้อน เราสามารถตั้งโจทย์เรื่องการกักเก็บคาร์บอนในป่าชุมชน ยิ่งสินค้าในโจทย์นี้ เราสามารถชักชวนคนให้มาปลูกต้นไม้โดยจ่ายเงินให้ มันมีหลายประเด็นมากที่จะลงมาจับ โจทย์ใหญ่ของเราคือ นักวิชาการห่างออกไป คนรุ่นใหม่ห่างออกไป เป็นภาวะที่น่าเป็นห่วง ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญการจัดการป่าชุมชน โดยเฉพาะมีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับมิติกฎหมายมากขึ้น ซึ่งต้องการศักยภาพปัญญาชน คนรุ่นใหม่ช่วยในการแปลงสิ่งที่จัดการต่อรองทางกฎหมาย ยิ่งสำคัญ การเขียนแผนจัดการป่าชุมชน ให้เป็นภาษาเดียวกับกฎหมาย เขียนอย่างเท่าทันและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อให้คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งมีความยากขึ้นเมื่อต้องสอดคล้องกับบริบทใหม่ๆ หรือการทำป่าชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อศึกษาธรรมชาติ หากให้คนแก่คิดก็จะเป็นเรื่องเฉยๆในมุมของคนแก่คิด แต่ถ้าคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการที่ส่งเสริมความยั่งยืนและสอดคล้องกับเรื่องภาวะโลกร้อน หรือปัญหาขยะ สามารถเชื่อมได้หมด ซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถทำได้ มันไม่ใช่ป่าชุมชนเพื่อชาวบ้าน แต่เป็นป่าชุมชนเพื่อคนทั้งประเทศ และตัวเราเอง” นายเดโชกล่าว
การเปิดพื้นที่ของป่าชุมชนให้กว้างขึ้นสำหรับคนทุกกลุ่มและทุกวัย
นางสาวสุภาวดี ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ร่วมสนับสนุนการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกชุมชนให้เกิดพื้นที่ที่เยาวชนสามารถออกแบบ และสร้างสรรค์ป่าชุมชนตามแบบที่คนรุ่นใหม่ต้องการ โดยเน้นย้ำบทบาทของป่าชุมชนที่สำคัญ ที่เป็นพื้นที่ทางประชาธิปไตยในการเชื่อมคนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกชุมชน ตลอดจนเชื่อมโยงโลกภายในและภายนอกชุมชน เพื่อการบริหารจัดการอนุรักษ์ป่าชุมชน และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
“วันนี้ถึงเวลา ถึงโอกาสที่จะต้องเปิดพื้นที่ป่าชุมชนให้คนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกชุมชนได้มีพื้นที่ปฏิบัติการจริงๆ และให้พื้นที่ในเชิงทบทวนกรอบแนวคิดที่เป็นมาตั้งแต่คนรุ่นแรก และเปิดโอกาสให้ได้จินตนาการป่าชุมชนที่เขาอยากเห็น เชื่อว่า ถ้าเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่โดยให้เขามีโอกาสในเชิงปฏิบัติการเต็มที่ เขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะเราเห็นรูปธรรมจากอาสาคืนถิ่น เขาไม่ได้ทำเฉพาะในชุมชน แต่เขาพยายามใช้องค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากการทำงานในเมือง เพื่อจะเชื่อมในชุมชนและนอกชุมชน หากมองป่าชุมชนจะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการในเชิงอยู่รอดอยู่รวม และเชิงการแก้ปัญหาประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน อยากเปิดพื้นที่ทั้ง offline และ onlie ตัวโครงการนอกจากให้ศึกษาข้อมูลแล้ว น่าจะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของเขาอย่างไรให้เขาได้จินตนาการต่อ และให้เขาได้เชื่อมคนรุ่นใหม่ในและนอกชุมชน พื้นที่ป่าชุมชนเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมทางการเมือง นำมาสู่ทุกมิติ ในการกำหนดอนาคตของเรา โดยเริ่มจากรูปธรรมเล็กๆ โดยมีการเปิดรับ เชื่อมโยงทั้งโลกภายในชุมชนและภายนอกชุมชน” นางสาวสุภาวดี กล่าว
นายธาวิน และนางสาวปภาวิน ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ได้เสนอบทบาทคนรุ่นใหม่ในชุมชนเมืองว่า ถึงแม้คนรุ่นใหม่ในเมืองจะอยู่ห่างไกลจากป่าชุมชน แต่ทุกคนต่างมีสิทธิในการบริหารจัดการป่าชุมชน
“ในฐานะเยาวชนที่อยู่กทม เราสามารถเริ่มทำได้ด้วยการทำให้สิ่งรอบตัวเราเป็นป่าชุมชนมากขึ้น ทำให้เราอยู่ใกล้ป่าชุมชน มีความหลากหลาย มีต้นไม้เยอะๆ ต้นไม้ที่เจริญเติบโตกับความเจริญ (civilization) ของเมือง ให้อยู่ด้วยกันเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่เราสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน และพืชพันธุ์ธรรมชาติได้ประโยชน์จากเราด้วย เราสามารถใช้ประโยชน์จากขยะในการสร้างประโยชน์ต่อพืชพันธุ์ได้อีกที” นายธาวิน กล่าวถึงบทบาทคนรุ่นใหม่ในฐานะเยาวชนในชุมชนเมือง
“ป่าชุมชนสามารถสร้างมูลค่าเป็นสินค้าชุมชนให้กับชุมชน เช่น ผู้คนในเมืองสนใจการใช้ชีวิตแบบ eco living มากขึ้น นอบน้อมต่อธรรมชาติ บริโภคสินค้าอินทรีย์ เน้นเรื่องความยั่งยืน สนใจบริโภคสินค้าจากชุมชนมากขึ้น และสินค้าจากเกษตรกรรายย่อย เราอาจต้องคิดว่าเราสร้างมูลค่าอย่างไรให้มีความน่าสนใจ ผ่านมาตรฐานการรับรอง และภาพที่คนหนุ่มสาวยังสามารถเล่าเรื่องป่าชุมชนของเขาได้ และไม่ใช่แค่คนที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนถึงมีสิทธิดูแลป่าชุมชน แต่คนที่อยู่ห่างไกลก็มีสิทธิที่จะได้ดูแลป่าชุมชน จากการที่เปลี่ยนการใช้วิถีชีวิตใช้พลังงานสะอาด เน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ถือว่าเป็นการดูแลป่าชุมชนร่วมกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาคนที่ทำงานเบื้องหลังป่าชุมชนเขาทำงานเต็มที่และหนักมาก ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาป่าชุมชนให้สู่เป้าหมายที่คิดไว้ เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหนู ที่จะสานต่อภารกิจให้เข้ากับยุคสมัย เข้ากับพลวัตรสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้ามีองค์กรที่จัดอบรมให้คนรุ่นใหม่ในเมือง ได้เรียนรู้ป่าชุมชนมากขึ้น จะดี ให้ป่าชุมชนได้กลับไปฟูมฟักธรรมชาติ เรียนรู้ป่าชุมชนมากขึ้น” นางสาวปภาวินกล่าว
สิ่งที่อยากส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบถึงความสำคัญของป่าชุมชน
นายเดโช ได้กล่าวถึงความสำคัญของป่าชุมชนที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกมิติของสังคม เพื่อให้เกิดการดูแลและใช้ประโยชน์ป่าไม้อย่างยั่งยืน
“ป่าชุมชนสำหรับคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่มีเสน่ห์ น่าสัมผัส น่าลงมาอยู่ในกระบวนการ เพราะมันมีหลายมิติ ป่าชุมชนเกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์ เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำองค์ความรู้ และผู้คนจากทุกศาสตร์ ในตัวกฎหมายเกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้คน สิทธิประชาชน สิทธิของรัฐ มีคนเกี่ยวข้องตั้งแต่ข้าราชการเล็กๆ เชื่อมไปถึงข้าราชการระดับชาติ เป็นปรากฎการณ์ที่น่าร่วม สนุก มีเสน่ห์สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าได้เรื่อยๆ เมื่อสิทธิมาถึงคนชายขอบ เขาจะสามารถใช้สิทธินั้นพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร เป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทาย” นายเดโชกล่าว
นางสาวสุภาวดี ได้เสนอแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนเพื่อการออกแบบและดูแลป่าชุมชนที่ประยุกต์ใช้แนวนคิดแบบเดียวกับโครงการอาสาสมัครคืนถิ่น
“คนรุ่นใหม่ตระหนักอยู่แล้วป่าชุมชนคือชีวิต ไม่ใช่แค่ชีวิตคนในชุมชน แต่เป็นชีวิตของคนทั้งสังคม ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบป่าชุมชน เริ่มจากปฏิบัติการเล็ก มันไม่ได้อยู่แค่ฐานหัว แต่มันจะอยู่เข้าไปในเนื้อตัวร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่ป่าชุมชนอยู่ในเนื้อตัวร่างกายของเรา อยู่ที่ไหนคุณก็ action (ปฏิบัติ) ได้ อยู่ในฐานใจ ขณะเดียวกันเมื่อคนรุ่นใหม่เป็นตัวหลัก เราต้องเน้นการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของการสร้างชุมชนเพื่อคนทุกคน เป็นเรื่องที่สำคัญ” นางสาวสุภาวดี กล่าว
สำหรับตัวแทนคนรุ่นใหม่ นายธาวิน กล่าวว่า “เราเป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชน ป่าชุมชนคือชีวิต สิ่งที่เราทำได้คือตระหนักรู้ว่า มันสำคัญ เริ่มจากคิดว่า เราอยากทำอะไรเพื่อป่าชุมชน เราอยากทำให้ยั่งยืน เพราะจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตและมีระบบนิเวศที่ดี ถ้าเราเริ่มเป็นคนแรกที่คิดถึงความสำคัญของป่าชุมชน มันจะชักจูงคนรอบข้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี รวมถึงการเข้าร่วมองค์กรที่ดี กิจกรรมอาสามัคร ทำให้เรายิ่งมีเสียงที่ใหญ่ขึ้น การสร้างโอกาสและหาเครือข่ายก็เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาป่าชุมชน” ซึ่งนางสาวปภาวิน ได้ร่วมแสดงความเห็นว่า “ป่าชุมชนไม่ควรจะหายไปในช่วงของวัยที่หายไป (gap) มันคงจะดี ถ้าเรามีเครือข่ายเยาวชนที่แข็งแรงและกลับมาสร้างการตระหนักเรื่องป่าชุมชนให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ”
ประเด็นเพิ่มเติมจากผู้ร่วมฟังวงเสวนา
ก่อนจบวงเสวนา ทางเยาวชนผู้ร่วมฟังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อป่าชุมชนและบทบาทของคนรุ่นใหม่ ใน 3 มิติ
1) ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชุมชนมีศักยภาพที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่อง ecosystem service และตอบโจทย์ระดับโลกได้ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารที่คนรุ่นใหม่สามารถเติมเต็มได้ โดย key message จากชุมชน ยังไม่สื่อสารไปกว้างพอ ดังนั้นความสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วย และดึงการมีส่วนร่วมจากคนทุกรุ่นในสังคมให้เรียนรู้ด้วยกัน
2) เศรษฐกิจชุมชน คนรุ่นใหม่จะช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน เราไม่อยากให้คนในชุมชนวิ่งเข้าในเมือง ขณะที่ชุมชนมีศักยภาพมากมาย แต่เป็นเรื่องภาพจำของคนในสังคมเมืองที่มองคนไม่เท่ากัน ถ้าคนเมืองไม่มองคนที่อยู่ข้างนอกเมืองว่าด้อยกว่า มันจะสร้างความสมดุลคุณค่าของคน และข้อกังวลของผู้ใหญ่ในชุมชนคือ เยาวชนไม่มีความสนใจกลับมาอยู่บ้าน การหากินในบ้าน ถ้าตอบโจทย์เศรษฐกิจได้จะทำให้เยาวชนกลับมา และ
3) การส่งต่อความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนให้ลูกหลาน อายุไม่เท่าไหร่ก็ต้องเข้าเมืองไปเรียน ไปทำงานหารายได้ ขาดการเชื่อมโยงตรงนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ว่าอยู่ในชุมชนหรือในเมือง ถ้ามีการสื่อสารเรื่องนี้ และเสริมศักยภาพเยาวชนในพื้นที่ให้สามารถสนับสนุนคนในชุมชนได้เอง และเยาวชนในต่างพื้นที่จะมีส่วนในการส่งเสียงที่ใหญ่ขึ้นเพื่อสนับสนุนเยาวชนในชุมชนได้อย่างไร” ผู้ร่วมฟังวงเสวนาเสนอความคิดเห็น
นิยามใหม่ของป่าชุมชน
นอกจากนี้ ผู้ฟังได้ตั้งคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับข้อจำกัดของคำนิยาม “ป่าชุมชน” ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่คนทุกรุ่นต้องร่วมกันออกแบบ วางแผน และผลักดันพลังคนรุ่นใหม่ในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้เกิดการส่งต่อการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“คำจำกัดความของป่าชุมชน ที่ไม่ได้อยู่แค่ในต่างจังหวัด แต่เราจะร่วมสร้างความตระหนักการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในเมืองได้อย่างไร” ผู้ร่วมฟังวงเสวนาเสนอความคิดเห็น
ในช่วงสุดท้าย นางสาววรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทยได้กล่าวสรุปวงเสวนา พร้อมทั้งกล่าวปิดงาน โดยมีใจความว่า ถึงแม้บริบทสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ทั้งคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ยังคงมองว่า “ป่าชุมชน” เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบทบาทของคนแต่ละยุคแตกต่างกันไปตามปัญหาหรือสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ ดังเช่น เมื่อ 30 ปีก่อน ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดลงมาก กระทบต่อผู้พึ่งพิงป่า จึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้คนยุคนั้นร่วมกันผลักดันกฎหมายและนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน จนกระทั่งเวลาผ่านไป ปัจจุบันความท้าทายไม่ใช่เพียงแต่เป็นเรื่องของในชุมชน หรือในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเด็นระดับโลก คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจ และสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นตามบริบทสังคมยุคใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องศึกษา และค้นหาบทบาทของตน พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ทักษะ และเครื่องมือที่ตนมีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของโลกในอนาคต และเพื่อขับเคลื่อนป่าชุมชนของทุกคนต่อไปอย่างยั่งยืน
ป่าชุมชนอาจเป็นพื้นที่เล็ก แต่เป็นพื้นที่ที่เราพยายามผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมและผลักดันให้ป่าชุมชนเป็นพื้นที่ร่วมกันของทั้งของรัฐและประชาชน หรือคนในท้องถิ่น และวันนี้เรากำลังพูดถึงคนนอกท้องถิ่น เราควรใช้ต้นทุนที่มีและพื้นที่เปิดตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ในการแก้ปัญหาร่วมกันให้มากที่สุดในการจัดการทรัพยากรของชุมชนและของประชาชนคนอื่น วันนี้เราพยายามช่วยกันคิดภาพอนาคตให้ได้มากที่สุด ลองดูเครื่องมือที่เราใช้ได้ เครื่องมือที่เราพอจะมีให้ใช้ เครื่องมือออนไลน์ เรื่องการปฏิบัติการในพื้นที่ เรื่องนวัตกรรมที่ต้องคิดอ่านขึ้นมาใหม่ หรือทักษะบางอย่างที่ต้องเติมเต็ม หรือเรื่องของการอนุรักษ์ให้ดีขึ้น เช่น เรื่องการค้นหาอัตลักษณ์ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น หรือเรื่องการใช้ประโยชน์ให้ยั่งยืนขึ้นในทางเศรษฐกิจ หรือในทางการจัดการต่อไปในอนาคต
"วันนี้เราได้ตัวตั้งที่ดีได้มุมมองจากคนรุ่นก่อน และได้พลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีมากจากคนรุ่นใหม่ เราได้คำตอบแล้วว่า ป่าชุมชนยังสำคัญอยู่มาก ไม่ใช่แค่ป่าชุมชนเพื่อชุมชน แต่คือป่าชุมชนของทุกคน” นางสาววรางคณากล่าว
###
เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดวงเสวนา และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป
งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)