RECOFTC ประเทศไทย
CF - NET

ขบวนการป่าชุมชน ชี้การบังคับใช้พรบ.ป่าชุมชนต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นสร้างรูปธรรมเชิงประจักษ์ เพื่อยกระดับให้ป่าชุมชนตอบโจทย์สังคมในอนาคต

ตัวแทนนักกฏหมาย นักวิชาการด้านป่าไม้ ผู้ประสานงานเครือข่ายระดับภูมิภาค ภาคประชาสังคมและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังรายงานการศึกษา "30 ปี ขบวนป่าชุมชน บทเรียน และทิศทางการขับเคลื่อนสู่ทศวรรษที่ 4” ร่วมฟังสถานการณ์และแลกเปลี่ยนต่อพรบ.ป่าชุมชน 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ย 62 นี้
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

วันที่ 22 พ.ย. 2562 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย และเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีเปิดตัวรายงานการศึกษา "30 ปี ขบวนป่าชุมชน บทเรียน และทิศทางการขับเคลื่อนสู่ทศวรรษที่ 4” และเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อพรบ.ป่าชุมชน เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้ว” ณ ห้องประชุมไชน่า ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนนักกฏหมาย นักวิชาการด้านป่าไม้ ผู้ประสานงานเครือข่ายระดับภูมิภาค ภาคประชาสังคมและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังรายงานการศึกษา สถานการณ์และแลกเปลี่ยนต่อพรบ.ป่าชุมชน 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ย 62 นี้

 

“เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีเห็นชอบออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมสำหรับทุกภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฏหมายป่าไม้ต่างๆ และกำลังพัฒนาแผนแม่บทกันอยู่ ขบวนการต้องมีเป้าหมายและบทสรุปในการขับเคลื่อน พัฒนาให้ทุกป่าชุมชนมีศักยภาพและคุณภาพเท่ากัน บทเรียนและการเรียนรู้ต่างๆ ที่ผ่านมาจะช่วยให้ป่าชุมชนยกระดับคุณภาพขึ้น ป่าชุมชนเป็นคำตอบ SDG เป็นอย่างดี เป็นแหล่งทรัพยากร ความมั่งคั่ง มั่นคงและพื้นที่สีเขียวที่สำคัญมากในระดับสากลจนถึงท้องถิ่น และผลของการพูดคุยวันนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการกำหนดแผนแม่บทป่าไม้ฉบับใหม่ที่จะมีการยกร่างกันหลังจากนี้” ผส.ดร. นิคม แหลมลัก คณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

“ รายงานนี้มาจากงานวิจัยที่มีพื้นฐานจากชีวิตและความเป็นอยู่จริงที่เกิดขึ้น รวมถึงได้วิเคราะห์กระแสสังคม ป่าไม้ การขับเคลื่อนภาคประชาชนเชื่อมโยงกับสถานการณ์สากล ระบบที่เกิดขึ้นจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับท้องถิ่น อีกทั้งบทเรียนที่พบคือ ขบวนการป่าชุมชนมีภาวะติดกับดักของการเคลื่อนไหวที่มีปัจจัยจากภายนอกจนเกิดความอ่อนล้าและถอดใจ จึงแนะนำว่า ทิศทางเป้าหมายจากนี้ควรมีหลายเป้าหมาย ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และป่าชุมชนยังเป็นคำตอบของเรื่องโลกร้อนได้อย่างดีที่สุดด้วย” ดร. กฤษฏา บุญชัย ผู้เขียนรายงานนี้ จากมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 

 

ถึงแม้ว่า การออกกฏหมายป่าชุมชนนี้ยังไม่ครอบคลุม จึงไม่เกิดความจูงใจประชาชนให้ความร่วมมือ และการให้อำนาจส่วนกลางเข้าไปจัดการกำกับดูแลและบริหารป่าชุมชนค่อนข้างมากขึ้น บทบัญญัติบางประการยังมีปัญหาไม่ชัดเจน แต่ถ้ามองในแง่โอกาสนั้น ส่วนกลางให้ความเป็นมิตรกับประชาชนขึ้น สิ่งที่ทำให้หล่อเลี้ยงและยืนหยัดในการเคลื่อนไหวได้ ต้องสร้างความเป็นสถาบันในขบวนการป่าชุมชนให้มากขึ้น ปรับและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและภาคประชาสังคม รวมถึงชุมชนในเมืองให้เห็นความสำคัญและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชนที่ต้องดูแลและบริหารจัดการร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

นักวิชาการป่าไม้ อาจารย์ ดร.สุรินทร์ อ้นพรม ชี้สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการหลังการประกาศใช้พรบ.ป่าชุมชน คือ ควรสร้างความเป็นธรรมาภิบาลให้เกิด โดยภาคประชาสังคมควรเข้าไปผลักดันให้กลไกการกำกับนโยบายป่าชุมชนนั้นมีส่วนร่วมและมีตัวแทนของภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างที่กฎหมายกำหนด และสร้างความรู้ใหม่ ๆ ในการจัดการป่าชุมชน เช่น การใช้เครื่องมือเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดการป่าชุมชน ที่จะช่วยทำให้เกิดข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ว่าป่าชุมชนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ในส่วนของตัวแทนป่าไม้ภาคเมือง ย้ำความสำคัญที่กฎหมายจะต้องนำไปสู่การกระจายอำนาจ และทำให้การจัดการป่าโดยชุมชนไม่จำกัดอยู่เพียงป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกรมป่าไม้ แต่ควรครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

 

ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจและอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่

https://news.thaipbs.or.th/content/286506?fbclid=IwAR3BVO6L0xof4iLEB7IpviMlakJCGrtK0aivjpSJ4v_tu9MSWBeg58lJ7eM

https://www.citizenthaipbs.net/node/27148?fbclid=IwAR25CfCNNt0u3J7V4J3X0aAZGvUNPwsn8f_586Ez4KgBH7V6Pn8HWtTRk2E

 

รายงาน 30 ปี ขบวนการป่าชุมชน บทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อน พร้อมดาวน์โหลดด้านล่างนี้