ประโยชน์จากป่าชุมชน
โดยปกติแล้ว “ป่าชุมชน” ก็คือพื้นที่ป่าไม้ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมต่อการจัดการเพื่อให้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น ป่าชุมชนจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในที่ดินประเภทต่างๆ เพียงแต่ระดับการมีส่วนร่วมและการจัดการอาจมีความเข้มข้นและความหลากหลายที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายของที่ดินผืนนั้นเป็นประการสำคัญ
สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานป่าชุมชนของแต่ละแห่ง ก็ย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือความต้องการของชุมชนที่มุ่งหวังได้รับจากป่าชุมชน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าประโยชน์จากป่าชุมชนนั่นเอง หากป่าชุมชนไม่สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ชุมชนได้ตามต้องการก็จะไม่บังเกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ ประโยชน์จากป่าชุมชนในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ามี 3 ด้าน ดังนี้
- ประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ที่พบว่าชุมชนประสงค์ได้รับจากการดำเนินงานป่าชุมชนในระยะแรกๆต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญได้แก่ การเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันส่งผลต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร การอุปโภค และการบริโภคในครัวเรือน การเป็นแหล่งป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านไฟป่าที่คุกคามสุขภาพและทรัพยากรของชุมชน การช่วยบรรเทาการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดินโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นภูเขาและชายฝั่งทะเล การอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ
- ประโยชน์ทางด้านสังคม หลายชุมชนได้รับผลประโยชน์จากป่าชุมชนทางด้านสังคมในรูปแบบต่างๆกันไป ที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างความร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมจัดการป่าไม้อันเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม อันส่งผลต่อความรักสามัคคีที่สามารถส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมอื่นๆร่วมกันในชุมชน ทั้งในด้านศาสนาหรือความเชื่อ การประกอบอาชีพ การรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ตามความเหมาะสม กับทั้งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของชุมชนตามมา การใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ในบางแห่งอาจมีการสร้างเครือข่ายโดยป่าชุมชนที่เชื่อมโยงความร่วมมือกับหมู่บ้านอื่นทั้งในระดับตำบล อำเภอ ภูมิภาค และประเทศอีกด้วย
- ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านนี้จากป่าชุมชนไม่สูงเท่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดของสถานภาพทางกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับในรูปแบบจากการเก็บหาของป่าและสมุนไพรตามที่กฎหมายเอื้ออำนวยให้เพื่อการบริโภคและอุปโภคในครัวเรือน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง ในกรณีที่มีจำนวนมากอาจมีการรวบรวมจำหน่ายซึ่งอาจมีการแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่เป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง สำหรับป่าชุมชนที่อยู่ในที่ดินบางประเภทก็สามารถตัดฟันไม้ยืนต้นที่มีอยู่จำหน่ายอันเป็นการสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หากได้พิจารณากันให้ถ้วนถี่แล้วอาจสรุปได้ว่า ป่าชุมชนทุกแห่งได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ด้านควบคู่กันไป เพียงแค่ว่าด้านในด้านหนึ่งอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ประโยชน์ดังกล่าวอาจมีการยกระดับให้สูงขึ้นกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันได้ ถ้ามีการจัดการหรือดำเนินกิจกรรมบางด้านในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งถ้าประโยชน์ทั้ง 3 ด้านมีความสมดุลกันแล้ว จะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ของชุมชนแห่งนั้นดังภาพ
การจัดการป่าชุมชนแต่ละแห่งมีความท้าทายเป็นอย่างมากที่จะทำให้ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือประโยชน์ในด้านต่างๆนั่นเอง
ซึ่งควรได้มีการพิจารณาดำเนินการโดยใช้หลักวิชาการป่าไม้และวิชาการทางด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบูรณาการกัน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของป่าชุมชนแต่ละแห่ง ซึ่งควรได้มีการส่งเสริมให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วนต่อไป