RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

ป่าชุมชนบ้านหนอง รางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด จากโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน ประจำปี 2562

27 September 2019
รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ชุมชนชาวบ้านหนอง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ป่าของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พานพร้าวและป่าแก้งไก่ มาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งได้พึ่งพิงป่าชุมชนแห่งนี้ ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งหาอาหารพื้นบ้านจากป่าเพื่อนำมาบริโภคในครัวเรือนของคนในชุมชน ต่อมาผู้นำหมู่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่พงษ์พันธ์ วิชัยยนต์มีความประสงค์ที่จะให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและฟื้นฟูป่า เพื่อให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เกิดประโยชน์กับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อมมากยิ่งขึ้น
Practitioner's Insights
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

แม้เพิ่งได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งป่าชุมชนอย่างเป็นทางการได้เกือบหนึ่งปีเท่านั้น แต่ชุมชนจากการนำของคณะกรรมการป่าชุมชนได้ร่วมมืออันอย่างแข็งขันในการจัดการป่าชุมชน ทั้งการปลูกพรรณพืชเสริมและการป้องกันไฟป่า กับทั้งได้มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และที่พักแบบโฮมสเตย์ที่เชื่อมโยงกับวิถีชุมชนทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายปุ่มชนร่วมกับป่าชุนชนอื่น ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

ป่าชุมชนบ้านหนองได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด จากโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน ประจำปี 2562 จากการประเมินผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้ 2 ประการ มีดังนี้
          1. เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ พบว่าราษฎรประมาณ 80% เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชน ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จในระดับมาก
          2. เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและพัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายป่าชุมชน พบว่าราษฎรในชุมชนมีการเก็บหาของป่าและสมุนไพรมาใช้ในการบริโภคและอุปโภคในครัวเรือน ชุมชนมีการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในป่าชุมชน กับทั้งป่าชุมชนช่วยเอื้อประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับชุมชนข้างเคียงในการจัดตั้งเครือข่ายป่าชุมชน จึงนับได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับมากเช่นเดียวกัน

cr.photo ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ประเทศไทย
cr.photo ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ประเทศไทย 

สำหรับจุดแข็งของการดำเนินงานป่าชุมชนบ้านหนองแห่งนี้ที่สำคัญได้แก่
           1.ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือคณะกรรมการในการจัดการป่าชุมชน
​​           2.คณะกรรมการมีความรู้ มีความเข้มแข็ง มีจิตอาสาและมีความอิสระในการบริหารจัดการป่าชุมชน
​​           3.มีความร่วมมือกับหมู่บ้านข้างเคียงในการจัดตั้งและดำเนินงานเครือข่ายป่าชุมชน
​​           4. มีการประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้แก่คนทั้งในและนอกชุมชน
​​           5. ชาวบ้านมีการพึ่งพิงและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนทั้งในด้านอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว
​​           6. สภาพป่าถูกบุกรุกน้อยลงและมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกว่าในอดีต
​​           7. ได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับจังหวัดในปี พ..2562

 

ด้านจุดอ่อนของการดำเนินงานโครงการ ที่ส่งผลให้การจัดการป่าชุนมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ได้แก่
​​           1.งบประมาณที่ใช้ดำเนินงานยังไม่เพียงพอและได้รับการสนับสนุนอย่างไม่ต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
​​           2.ชาวบ้านจำนวนประมาณร้อยละ 20 ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชน
​​          3.ยังไม่มีการกำหนดกฎระเบียบในการบริหารจัดการป่าชุมชนและการดำเนินงานของคณะกรรมการป่าชุมชนยังไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
​​          4.คณะกรรมการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนยังขาดความรู้ในด้านกฎหมายป่าชุมชนและวิชาการป่าไม้บางด้าน เช่น การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมมาปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่
​​          5.ขาดการจัดทำรูปแบบและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมโยงจุดเด่นในป่าชุมชนกับหมู่บ้าน
​​          6.ของป่าและผลผลิตจากป่าชุมชนใช้ในระดับครัวเรือนแต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้อย่างเป็นรูปธรรม
​​          7.ยังไม่มีการจัดทำแผนงานดำเนินกิจกรรมป่าชุมชนและความร่วมมือกับเครือข่ายที่ชัดเจน

 

cr.photo ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ประเทศไทย
cr.photo ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ประเทศไทย 

และ​เพื่อให้การดำเนินงานโครงการป่าชุมชนบ้านต้นต้องบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรดำเนินการ ดังนี้
​          ​1. จัดให้มีมัคคุเทศก์เยาวชนในการให้บริการท่องเที่ยวและการศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชน
          ​2. ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานจัดการป่าชุมชนของคณะกรรมการ
          ​3. ฝึกอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการและสมาชิกด้านการบริหารจัดการป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
          ​4. จัดทำแผนระยะสั้นและระยะยาวในการบริหารจัดการป่าชุมชนและเครือข่ายตามศักยภาพที่มี
          ​5. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ  ท้องถิ่น และเอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานจัดการป่าชุมชนที่เหมาะสม
          ​6. การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชุมชน  วิถีชีวิตของชุมชนและชุมชนข้างเคียง และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดหนองคาย
          ​7.สร้างมูลค่าเพิ่มและหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ​
​          8.จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการป่าชุมชนในรูปแบบ  บวร (บ้าน วัด โรงเรียน)
​         ​ 9. จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนและชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน
          ​10.จัดตั้งกองทุนและระเบียบในการบริหารจัดการป่าชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสอย่างแท้จริง

จากการมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ..2562 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 นั้น ทางคณะกรรมการป่าชุมชนมีความประสงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความรู้และความเข้าใจที่ถ่ิงแท้ต่อการจัดการป่าชุมชนตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเร่งด่วน เพื่อความมั่นใจต่อการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎระเบียบและการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม อันจักเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา