RECOFTC ประเทศไทย
ING WATERSHED

About ING Project

โครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง

โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน หรือชื่อย่อว่า โครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง มีเป้าหมายเพื่อจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของเครือข่ายท้องถิ่น ในการพัฒนาแผนการจัดการลุ่มน้ำ ที่สนับสนุนโดยสหภาพยุโรปรวมทั้งพัฒนานโยบายและการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย จำนวน 11 ชุมชน โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ลุ่มน้ำอิงได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของเครือข่ายท้องถิ่น ในการพัฒนาแผนการจัดการลุ่มน้ำ รวมทั้งพัฒนานโยบายและการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายท้องถิ่น ในการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน ผ่านการเพิ่มศักยภาพและพัฒนากลไกเชิงสถาบัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และระบบฐานความรู้แบบบูรณาการ

 

แผนที่ พื้นที่ดำเนินงาน โครงการอิง


ผลลัพธ์ที่คาดหวัง 3 ประการ
1.พัฒนาศักยภาพผู้นำ
เครือข่ายท้องถิ่น สภาประชาชนลุ่มน้ำ ชุมชนเป้าหมาย และองค์กรปกครองท้องถิ่นประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะต่างๆ ในกระบวนการพัฒนาแผนการจัดการลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมและอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนานโยบาย
2.สร้างความร่วมมือกับนโยบาย
สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ที่มีความเข้มแข็งและความร่วมมือกันมากขึ้น ในการผลักดันทางนโยบาย
3.วิจัยองค์ความรู้และลื่อสาร
เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ เพื่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และใช้ในการกำหนดข้อเสนอทางนโยบาย การสื่อสารเพื่อขยายเครือข่ายและสร้างความตระหนักแก่สาธารณะเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน

 
ความสำคัญลุ่มน้ำอิง
1.ลุ่มน้ำอิงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อด้านการอนุรักษ์ (conservation corridor) ที่มีความเสี่ยงต่อการคุกคามมากที่สุดแห่งหนึ่งใน Indo-Burma Hotspot
2.แหล่งเพราะพันธุ์ที่สำคัญของสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง
3.นโยบาย/โครงการการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลเสียต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและการดำรงชีวิตของผู้คนท้องถิ่น
4.การสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายท้องถิ่นอย่างแข็งขันและมีนัยสำคัญในการพัฒนาแผนการจัดการและนโยบายการจัดการลุ่มน้ำอิง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน
 
 

บริบทลุ่มน้ำอิง

1.ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
ลุ่มน้ำอิงเป็นลุ่มน้ำสาขาของน้ำโขง แม่น้ำอิงเป็นแม่น้ำสายหลักที่มีต้นน้ำมาจากดอยหลวงหรือเทือกเขาผีปันน้ำจากป่าต้นน้ำ 12 ลำห้วยไหลผ่านที่ราบน้อยใหญ่ที่เป็นชุมชนและพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาว อำเภอจุน จังหวัดพะเยา อำเภอป่าแดด อำเภอพาน อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 260 กิโลเมตร ในด้านประวัติศาสตร์ ได้กล่าวถึงดินแดนที่เรียกว่าโยนก ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นถิ่นกำเนิดของพวกญวน อยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ตามหุบเขามีแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านได้แก่ แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำลาว ไหลลงสู่น้ำโขง บริเวณลุ่มน้ำอิงจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนใต้ของจังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำอิงเป็นแม่น้ำสายหลักมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านที่ราบเขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา แล้วไหลลงสู่กว๊านพะเยา (หนองเอี้ยง) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รอบ ๆ กว๊านพะเยาเป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำ (ลำเหมือง) เล็ก ๆ หลายสายไหลลงมาสู่พื้นที่เพาะปลูก ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกว๊านพะเยาเป็นเนินสูงลาดลงมาจากเทือกเขาเหมาะสำหรับก่อบ้านสร้างเมือง เพราะน้ำท่วมไม่ถึงและเป็นชัยภูมิที่ป้องกันข้าศึกได้ดี จึงพบซากชุมชนและเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น เวียงพะเยา เวียงปู่ล่าม เวียงแก้ว เวียงต๋อม เป็นต้น ด้านตะวันออกของกว๊านเป็นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา พบซากเวียงลอ อยู่ในเขตอำเภอจุน จังหวัดพะเยา เมืองนี้เป็นเมืองโบราณที่มีแม่น้ำอิงไหลผ่านกลางเมือง มีสถูปก่อด้วยอิฐ และพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามากมาย ต่อจากนั้นแม่น้ำอิงไหลขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย บริเวณนี้มีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีเวียงเทิงตั้งอยู่อยู่ริมพระธาตุจอมจ้อ ทางด้านตะวันตกมีพระธาตุจอมซิ่น ซึ่งเป็นสถูปเก่าแก่ บริเวณนี้มีน้ำแม่อิงและแม่น้ำอีกหลายสาขาที่ไหลมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันออกที่กั้นเขตชายแดนไทย-ลาว มีชุมชนโบราณอีกแห่งหนนึ่งคือ เวียงเชียงคำ จะอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ ที่มีแม่น้ำลาวเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิงไหลผ่าน จากเทือกเขาด้านใต้ไปลงแม่น้ำอิงบริเวณใกล้กับเมืองเทิง จากอำเภอเทิง แม่น้ำอิงไหลขึ้นไปทางเหนือเป็นที่ราบลุ่มในหุบเขาที่แม่น้ำอิงไหลผ่านลงไปออกแม่น้ำโขงในเขตบ้านปากอิง เหนือบริเวณปากอิงไปตามแม่น้ำโขง ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเชียงของ เป็นชุมชนรุปกลมรี มีคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบ ตั้งอยู่บนเชิงริมแม่น้ำโขง เมืองเชียงของเป็นเมืองปลายสุดของลุ่มน้ำอิงมีวัดวาอารามที่บางแห่งมีพระพุทธรูปหินทรายแบบเดียวกับพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา ลุ่มน้ำอิงอยู่ระหว่างหุบเขาตอนเหนือของเทือกเขาผีปันน้ำตอนกลาง หุบเขาลุ่มน้ำอิงมีที่ราบขนาดกว้างพอสมควรเป็นแนวยาวขนาบลำน้ำอิงตลอดเส้นทาง ตั้งแต่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ไปจนถึง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย


2.ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำอิง
ลุ่มน้ำอิงมีพื้นที่ 7,388 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ พะเยาและเชียงราย ซึ่งมีเขตพื้นที่ในเขตอำเภอพาน อำเภอป่าแดด อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายและในเขตอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง อำเภอดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาว อำเภอจุน อำเภอภูซางและอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ในการแบ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำอิง ได้แบ่งตามความแตกต่างทางกายภาพของลุ่มน้ำได้เป็น 3 ส่วนคือ
            ลุ่มน้ำอิงตอนบน “ป่าต้นน้ำกว๊านพะเยา” พื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนบนเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วย 12 สาย ที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา เรียกว่า ดอยหลวง คือป่าขุนห้วยหรือป่าต้นน้ำของกว๊านพะเยาได้แก่ ห้วยแม่ใจ ห้วยแม่สุก ห้วยแม่จว้า ห้วยแม่ตุ้ม ห้วยแม่เหยี่ยน ห้วยแม่ต๊ำ ห้วยแม่ต๋อม ห้วยแม่ตุ่น ห้วยแม่นาเรือ ห้วยแม่ใส และห้วยแม่ต๋ำ ส่วนทางทิศเหนือของกว๊านพะเยา คือดอยด้วนหรือดอยงามเป็นแหล่งทางธรรมชาติ มีทั้งป่าต้นน้ำคือ ดอยหลวงและกว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ รวมทั้งที่ราบสูงสลับกับที่ราบลุ่มบริเวณเทือกเขาดอยหลวง และที่ราบลุ่มรอบ ๆ บริเวณกว๊านพะเยา
           ลุ่มน้ำอิงตอนกลาง      ลุ่มน้ำอิงตอนกลางเริ่มจากประตูระบายน้ำกว๊านพะเยาจนถึงอำเภอเทิง ลักษณะภูมิประเทศจะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ได้แก่ บริเวณทุ่งดอกคำใต้และทุ่งลอ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาว อำเภอจุน และอำเภอเชียงคำบางส่วน
            ลักษณะทางกายภาพของแม่น้ำอิงตอนกลาง ในช่วงตอนต้นเขตอำเภอดอกคำใต้และอำเภอภูกามยาว จะแคบและตื้น มีความกว้างประมาณ 12-15 เมตรทำให้มีปริมาณน้ำน้อยคนในชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนกลางมีการใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการน้ำโดยมีระบบเหมืองฝายเพื่อนำน้ำเข้าพื้นที่เกษตร แม่น้ำอิงจะเริ่มกว้างและลึก ในเขตอำเภอจุน มีความกว้างประมาณ 20-25 เมตร รวมทั้งมีแม่น้ำสาขาหลายสายที่ไหลลงแม่น้ำอิงได้แก่ น้ำร่องช้าง น้ำร่องปอ น้ำแม่พุง และน้ำจุน ซึ่งไหลลงมาจากภูเขาที่ขนาบอยู่สองฝั่งลำน้ำอิง และตามแนวลำน้ำอิงจะมีบวก หนอง หลง หลายแห่งเพราะเป็นบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood Plain) จะทำให้เกิดแหล่งน้ำที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการหาปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำด้วย
             ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง ลุ่มน้ำอิงตอนล่างเริ่มตั้งแต่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แม่น้ำอิงจะไหลไปลงแม่น้ำโขงที่ “ปากอิง” บ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย น้ำอิงตอนปลายมีน้ำสาขาที่สำคัญคือ น้ำร่องแช่ น้ำลอย น้ำลาว น้ำแม่ต๊าก เป็นต้น
            พื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง มีลักษณะทางกายภาพที่สำคัญคือ แม่น้ำอิงจะมีขนาดกว้างประมาณ 150-200 เมตร และลึกกว่าตอนกลาง ทำให้มีปริมาณน้ำมาก ในฤดูน้ำหลากจะได้รับน้ำจากแม่น้ำโขงที่หนุนขึ้น ทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในเขตแม่น้ำอิงตอนปลาย ประกอบกับการมีคุ้งน้ำ ที่คดโค้งของกายภาพแม่น้ำตอนปลาย มีวังปลาและหนองน้ำ ที่น้ำท่วมถึงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีปริมาณและชนิดของพันธุ์ปลามากกว่าลุ่มน้ำอิงตอนต้นและตอนกลาง
 
สถานการณ์ปัญหา และภัยคุกคามในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง
1.นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ที่สำคัญเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้กำหนดให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นรวมทั้งหมด 10 พื้นที่ ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย หนองคาย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมด้านต่างๆ ทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้สิทธิประโยชน์ ทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และมาตรการอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ นอกจากนั้นนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวที่สามารถเข้ามาทำงานในโครงการได้นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีนโยบายและมาตรการสนับสนุน การจัดหาพื้นที่ให้เช่าในการลงทุนประกอบการ
ธุรกิจที่เหมาะกับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ 1). อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก 2). อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน 3). ธุรกิจการค้าชายแดนที่ต้องตั้งคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า ส่งต่อไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน 4). ธุรกิจสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการที่หลากหลายเพื่อรองรับ การขยายตัวชุมชนในบริเวณเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
จังหวัดเชียงราย คือ 1 ใน 10 พื้นที่ประกาศกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  ระยะที่ 2 มีคำสั่งประกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 21 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวในส่วนของอำเภอเชียงของคลอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลครึ่ง บุญเรือง ริมโขง เวียง ศรีดอนชัย สถาน และห้วยซ้อ
ด้วยศักยภาพพื้นที่ของอำเภอเชียงของ ตามบทบาทของพื้นที่ ประตูการค้าสู่จีนตะวันออก เส้นทางท่องเที่ยวหลวงพระบาง พื้นที่เชียงของจึงถูกวางเรื่องการค้าการท่องเที่ยว ศูนย์ขนส่งต่อเนื่อง พื้นที่ศูนย์โลจิสติกส์ พาณิชยกรรม เป็นต้น ซึ่งจากการวางแผนจะมีกลุ่มกิจการเป้าหมายที่สามารถลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ได้แก่1.อุตสาหกรรมเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง 2.กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว
3.กิจการโลจิสติกส์ 4.นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 5.การผลิตยา 6.การผลิตเครื่องมือแพทย์ 7.อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง 8.การผลิตเครื่องเรือน 9.อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ 10.การผลิตพลาสติก
จากกลุ่มตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นของธุรกิจที่จะลงทุนในพื้นที่ สิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือการจัดหาที่ดินในการรองรับกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นภายใต้นโยบายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้มีแผนการจัดการโดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์จัดให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ หรือจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนเช่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนา ตามระยะเวลา หลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขและอัตราค่าเช่าคณะกรรมการกำหนด จากการพิจาณาในพื้นที่อำเภอเชียงของ ได้มีการเสนอที่ดินพื้นที่ชุ่มน้ำ ริมแม่น้ำอิงที่จะรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเชียงของ คือ พื้นที่สาธารณะตำบลบุญเรือง และตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
 
2.นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีเป้าประสงค์ จัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ  ซึ่งแผนการจัดหาน้ำให้พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้กำหนดไว้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต(เกษตรและอุตสาหกรรม) โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่ ปี 2558 ถึง ปี 2569 ตามลำดับ ตามแผนการจัดหาน้ำของเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาใหม่  ระยะสั้น ศึกษาเตรียมความพร้อมเพื่อจัดหาน้ำรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (5 จังหวัด) ระยะกลาง ดำเนินการจัดหาน้ำตามผลการศึกษาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (5 จังหวัด) และดำเนินการศึกษาเตรียมความพร้อมเพื่อจัดหาน้ำรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 (5 จังหวัด) ระยะยาวจัดหาแหล่งน้ำรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่
 
3.นโยบายโครงข่ายทางถนนสนับสนุนสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 หลังการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้วางแผนขยายถนนเพื่อเชื่อมและรองรับการขนส่งทางถนนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงอีกหลายเส้นทาง เช่น ทางหลวง 1020 เชียงราย-เชียงของ ทางหลวง 1021ดอกคำใต้-เทิง ถนนสาย 1152 เชียงราย-เชียงของ และสายแยกทางหลวง 1020บ้านกิ่วแก้ว –อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย – อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
 
4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัย  ประกอบด้วย
4.1 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ขอตั้งสถาบันอุดมศึกษารูปแบบวิทยาเขต วิทยาลัยธุรกิจเกษตรนานาชาติ แม่โจ้-เชียงของ จัดการศึกษาระดับนานาชาติเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศลุ่มน้ำโขงและจีนตอนใต้ และสนับสนุนการการพัฒนาบุคลากรการค้า การท่องเที่ยว เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยขอใช้พื้นที่สาธารณะตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,266 ไร่
4.2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เดินหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การศึกษานานาชาติ บนพื้นที่ 300 ไร่ เป็นแห่งแรกของประเทศที่อำเภอเชียงของ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องการดึงนักศึกษา 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ล่าสุดได้ขอใช้พื้นที่เตรียมจัดสร้าง มหาวิทยาลัยที่บ้านหลวง หมู่ 4 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บนพื้นที่ 300 ไร่ โดยอยู่ในขั้นตอนสำรวจและขออนุญาตใช้สถานที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าชุมชน
4.3 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย โครงการจัดตั้งสาขาวิทยาเขต ในพื้นที่บ้านทุ่งอ่าง และบ้านทุ่งงิ้ว ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
 
5. นโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ พืชเชิงเดี่ยวปลูกกล้วยหอมเขียว
ปี 2558 มีการเข้ามาลงทุนปลูกและทำการค้ากล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนในพื้นที่ อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 2,750 ไร่ โดยเป็นการปลูกกล้วยหอมเขียวเชิงเดี่ยว ในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อส่งออก โดยบริษัทหงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ( Hongtar International Thailand)  เป็นบริษัทเอกชนจีน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานตั้งอยู่ที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทำธุรกิจประเภทประกอบกิจการค้า ผัก และผลไม้ และร้านขายปลีกผักและผลไม้ มีชื่อผู้ดำเนินการ 3 ราย ประกอบด้วยคนไทย 2 ราย และชาวจีน 1 ราย โดยมีผู้จัดการ และหัวหน้าคนงานเป็นคนไทย 
 วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ห้างหุ้นส่วนพญาเม็งรายการเกษตร จำกัด ประกอบกิจการปลูกกล้วย มะละกอ ที่อยู่ 68 หมู่ที่ 1 ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เข้ารับช่วงต่อจากบริษัทหงต๋าอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทยจำกัดที่แจ้งเลิกกิจการ เมื่อ ก.พ. 2559 โดยมีบริษัทชินเชี่ยงอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2559 เป็นผู้ส่งออกไปเมืองฉงชิ่งประเทศจีน นอกจากพื้นที่สวนกล้วยในอำเภอพญาเม็งราย จำนวน 2,750 ไร่ แล้ว ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่ริมแม่น้ำอิง ในอำเภอจุน จังหวัดพะเยา โดยมีเป้าหมายการปลูกกล้วยหอมเขียว อีก 2,000 ไร่
ข้อกังวลของชาวบ้านลุ่มน้ำอิง คือ 1).การแย่งใช้น้ำแม่น้ำอิง  ในการปลูกกล้วยหอมเขียว  1 ต้นใช้น้ำ 17-20 ลิตรต่อวัน  ในพื้นที่ 2,750 ไร่ จะมีการปลูกกล้วยหอมเขียว ประมาณ 800,000 ต้น จะมีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 6-8 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี นอกจากนั้นการใช้น้ำเพื่อแช่สารเคมีในการบรรจุภัณฑ์ โดยผลผลิต 1 ตันจะใช้น้ำ 100 เท่า  ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ และหน่วยงานใดๆ เข้าไปควบคุมการใช้น้ำโดยตรงจากการสูบจากแม่น้ำอิง และน้ำใต้ดินจากการขุดเจาะบ่อบาดาล จึงเป็นการใช้น้ำอย่างมหาศาลจากแม่น้ำอิงซึ่งเป็นการใช้น้ำ สิทธิเกินส่วน ตามที่ควรจะมีสิทธิการใช้น้ำของเกษตรกรชาวบ้านทั่วไปในลุ่มน้ำอิง  2).การใช้สารเคมีในสวนกล้วย การผลิตกล้วยดังกล่าวต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดินและน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรหรือแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการปลูกและการใช้สารเคมีหลังการเก็บเกี่ยวก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ
 
6.โครงการก่อสร้างเขื่อน ประตูระบายน้ำ บ้านแก่นเจริญ
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 20 บ้านแก่นเจริญ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิงที่ โดยก่อสร้างบนช่องลัดน้ำก่อนแล้วจึงขุดช่องลัดน้ำเชื่อมกับลำน้ำอิงประตูระบายน้ำประกอบไปด้วยบานระบายโค้งจำนวน 5 บานแต่ละบานกว้าง 12.5  เมตร สูง 6 เมตร  เก็บกักน้ำได้เป็นระยะทาง  38.3 กิโลเมตร  ความจุเก็บกักน้ำทั้งหมด 8.36 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานของสถานีสูบน้ำปัจจุบัน 6 สถานี  คือ สถานีสูบน้ำบ้านน้ำแพร่ บ้านสันตับตอง บ้านซ้อ บ้านบุญเรือง 3 บ้านบุญเรือง 2 บ้านบุญเรือง 4 และสถานีสูบน้ำที่จะก่อสร้างใหม่อีก 4 สถานี คือ บ้านแม่ต๋ำ  บ้านทุ่งศรีเกิด  บ้านต้นปล้องและบ้านซาววา
            การก่อสร้างประตูระบายน้ำล้นแก่นเจริญ  ไม่กระทบกับพื้นที่ทำกินของราษฎรบริเวณหัวงานปตร.แต่จะกระทบกับพื้นที่สาธารณะของชุมชน (ป่าชุมชน ) ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 252 ไร่ นอกจากนี้อาจมีพื้นที่ทำกินของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างคันกั้นน้ำริมสองฝั่งของลำน้ำอิงในบางช่วงที่ระดับตลิ่งลำน้ำต่ำเพื่อเก็บกักน้ำ  คิดเป็นระยะทางประมาณ 40.13 กิโลเมตร ในส่วนของการพัฒนานระบบชลประทานใหม่จะทำให้มีการสูญเสียพื้นที่ทำกินของราษฎรที่จะนำมาสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า การวางท่อส่งน้ำ  บ่อพักน้ำ  และคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตโดยราษฎรจะร่วมกันอุทิศที่ดินเพื่อการก่อสร้างระบบชลประทานดังกล่าว 
            พื้นที่โครงการนี้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำในเขตตำบลห้วยซ้อติดกับแม่น้ำอิง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสำนักงานการปฎิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย(ส.ป.ก)ได้ทำหนังสือรับรองและกันพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อการอนุรักษ์ไว้เป็นสาธารณประโยชน์แล้ว ตามหนังสือที่ราษฎรบ้านซาววา หมู่ 3 ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นไปขออนุรักษ์ที่ดินป่าสาธารณประโยชน์ป่าดอยหลวงป่าน้ำยาวและป่าน้ำซ้อ  ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2537
 
7.สถานการณ์ภัยแล้ง
ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำอิงในปีนี้ มีปริมาณน้อย เนื่องจากสภาวะภัยแล้ง ฝนตกปริมาณน้อย และเกิดฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในพะเยามีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งปริมาณน้ำที่วัดได้ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยา มีความจุเพียง 47.93% ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ มีความจุ 52.14% และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่ปืม มีความจุ 16.60% ทำให้ในปีนี้ชาวนาและชาวสวนในลุ่มน้ำอิงขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาปรัง ในปีนี้มีจำนวนชาวนาที่ทำนาปรังมีจำนวนน้อยลง หรือบางพื้นที่ไม่สามารถทำนาปรังได้เลย
นอกจากนี้การสร้างเขื่อนน้ำโขงในประเทศจีนยังส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ทำให้ในช่วงสามปีให้หลังมานี้ปริมาณน้ำโขงหนุนเข้ามาในน้ำอิงมีปริมาณน้อย ทำให้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงไม่เกิดน้ำท่วม น้ำไม่หลาก และน้ำไม่ไหลเข้าสู่หนอง ทำให้ปริมาณน้ำในหนองมีน้อย และปลาจากน้ำโขงและน้ำอิง ไม่ว่ายเข้าไปสู่หนอง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากปลาลดลง ปริมาณน้ำในหนองมีน้อยทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ทำการเกษตรได้
 
8.การบลูมของสาหร่ายพิษที่กว๊านพะเยา
สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยามีปริมาณน้อย ทำให้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่มีพิษเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (toxic  cyanobacterial bloom) ซึ่งสาหร่ายนี้จะสร้างพิษที่มีชื่อว่าmicrocystins และ anatoxins โดยพิษจากสาหร่ายนี้จะก่อให้เกิดผลต่อระบบประสาททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีฤทธิ์ที่มีผลต่อตับส่งผลให้เกิดมะเร็งตับได้ หากสัมผัสกับน้ำที่มีพิษของสาหร่ายชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการแพ้ แสบ คัน ระคายเคือง หากเข้าหาอาจทำให้ตาอักเสบ หากมีการปนเปื้อนเข้าไปในน้ำดื่มในปริมาณมากจะทำอันตรายต่อตับ ก่อให้เกิดเนื้องอก และตับล้มเหลว หรือเป็นมะเร็งได้ สาเหตุของการเกิดสาหร่ายบลูมในกว๊านพะเยามีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำน้อยและปริมาณของเสียที่ถูกปล่อยลงในน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะฟอสเฟต ที่เป็นอาหารของสาหร่ายทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
 
สรุปโดยรวม สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง  
1.หลังการสร้างฝายกั้นลำน้ำอิง จำนวน 18 แห่ง ทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถขึ้นมาวางไข่บริเวณต้นน้ำและกว๊านพะเยาได้
2.การทำประมงที่มีการใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย เช่น ระเบิดปลา ซ๊อตปลา โพงพาง อวนลากทับตลิ่ง ทำให้พันธุ์ปลาลดลงและบางชนิดสูญพันธุ์
3.แหล่งน้ำตื้นเขิน มีวัชพืชขึ้นอย่างหนาแน่น และคุณภาพของน้ำจากสารเคมีทางการเกษตร น้ำเสียจากครัวเรือนและเขตเมือง ทำให้ปลาและสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ได้
4.คุณภาพน้ำในกว๊านพะเยาเสื่อมลงจากการระบายน้ำเสียจากเมือง และพื้นที่เกษตร
5.การบุกรุกพื้นที่สาธารณะรอบกว๊านพะเยาจากกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหาร
6.การลดจำนวนลง และการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ปลาท้องถิ่นในกว๊านพะเยา และแม่น้ำอิง
7.ปัญหาการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำอิงตอนกลาง ซึ่งยังไม่มีเอกภาพ มีความขัดแย้งของชาวนากับหน่วยงานภาครัฐในการใช้น้ำเพื่อการทำนา
8.พื้นที่ของป่าชุ่มน้ำริมน้ำอิงลดลงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด
9.การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำอิง ที่มีความสัมพันธ์กับการระบายน้ำจากเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน  และผลกระทบจากการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
10.การเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาในลุ่มน้ำอิงที่มีความสัมพันธ์นโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาล และการขยายตัวของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เช่น โครงการขุดลอกกว๊านพะเยา แม่น้ำอิง และหนองเล็งทราย โครงการทำกระเช้าขึ้นดอยหนอก การพัฒนาผังเมืองรวม ภูซางเมืองใหม่ที่มีการกำหนดเป็นศูนย์กระจายสินค้าจากจีน โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตเชียงของ และมหาวิทยาลัยสวนสุนันทา ที่บ้านบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยการถมดินพื้นที่ชุ่มน้ำ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชียงของ เป็นต้น