RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

ป่าชุมชนกับความยั่งยืนโดยท้องถิ่น

07 March 2017
RECOFTC แผนงานประเทศไทย
Perspectives
ชุมชนเก็บบัว
แผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า
โลโก้องค์กรร่วมจัด

1.ถ่ายทอดเรื่องราว สถานการณ์เกี่ยวกับป่าชุมชน


พื้นที่โซนต้นน้ำ - บ้านต๋อมดง  บ้านขุนต๋ำ  บ้านต้ำใน
เครือข่ายป่าต้นน้ำกว๊านพะเยาเกิดจากการรวมตัว 8 ตำบล สร้างระบบการจัดการโดยใช้กฎ กติกาการใช้น้ำร่วมกันภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้าน แต่ยังเกิดวิกฤตเรื่องน้ำแล้ง การแย่งการใช้น้ำ ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนถูกบุกรุก และการเพิ่มพื้นที่เกษตร ชุมชนจึงรวมตัวกันเพื่อการฟื้นฟูป่าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ป่าชุมชนมีสภาพอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยละหมู่บ้านก็จะมีการจัดการป่าชุมชนและการใช้ประโยชน์ของตัวเองด้วย อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับป่าชุมชน เช่น การป้องกันไฟป่า การสร้างฝายเก็บน้ำ  แต่บางพื้นที่ยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว(ข้าวโพด)ที่เป็นส่งเสริมจากนโยบายภาครัฐ  ขยายพื้นที่การเกษตรเข้าไปในพื้นที่ป่า การถือครองที่ดินโดยนายทุนเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว ในส่วนเทศบาลตำบลและหน่วยงานภาครัฐบางส่วนได้ร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดทำระบบสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน :ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่ป่า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการแก้ไขปัญหาที่ดินและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าอีกทางหนึ่ง ส่งผลถึงการขาดแคลนน้ำและปริมาณน้ำลดลงเนื่องจากพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งช่วยกักเก็บน้ำถูกบุกรุกทำลาย

พื้นที่โซนกลางน้ำ - บ้านวังศิลา 
ป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นทำให้ผลผลิตจากป่าชุมชนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ชุมชนมีวิถีการดำรงชีวิต สภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังประสบปัญหาเรื่องไฟป่าและการอพยพของสัตว์ป่าออกมานอกพื้นที่ป่า ซึ่งกำลังดำเนินการร่วมกับเครือข่ายในการจัดการพื้นที่ป่าให้เป็นบ้านและพื้นที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าเพื่อป้องกันการอพยพออกนอกพื้นที่
บทบาทของผู้หญิงในการร่วมจัดการป่าชุมชน คือ การร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าชุมชนและเป็นฝ่ายสนับสนุน ดูแลความเรียบร้อยให้เกิดความสะดวกในการทำกิจกรรมและให้ดำเนินไปอย่างผลสำเร็จตามเป้าหมาย

พื้นที่โซนปลายน้ำ - บ้านบุญเรือง บ้านซาวา
มีป่าชุ่มน้ำ 17 ป่า ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายภาครัฐ และปัญหาการละเมิดสิทธิ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ของบ้านซาวาที่หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นใช้อำนาจยึดคืนพื้นที่โดยไม่รับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจยินยอมจากชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษามาเป็นเวลานานที่จะต้องถูกบุกรุกเพื่อนำไปเป็นพื้นที่ดำเนินการตามโครงการ สร้างประตูระบายน้ำตามนโยบายภาครัฐส่วนท้องถิ่น
ถึงอย่างไร ชุมชนท้องถิ่นยังมีความหวังให้ภาครัฐมองเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากชุมชนในการสร้างข้อบัญญัติหรือกฎกติกา การดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนร่วมกัน

2.ข้อค้นพบ การจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน


2.1 เกิดกลไกการจัดการทรัพยากรระดับชุมชน
เป็นการจัดการผ่านคณะกรรมการ ที่มีองค์ประกอบจากตัวแทนกลุ่มในชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้รู้ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร
2.2 มีการปฏิบัติการจัดการทรัพยากรของชุมชน เน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์
การสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม ผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์บนฐานข้อมูลของชุมชนเชื่อมโยงกับสถานการณ์นโยบายภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทรัพยากร
2.3 เกิดภาคีความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรของชุมชนมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน

ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งหลายหมู่บ้านมีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ และ/หรือ เขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
ป่าชุมชน (Community Forest)เป็นปฏิบัติการหนึ่งของการจัดการลุ่มน้ำ เป็นวิถีปฏิบัติและเป็นการปรับตัวของการจัดการทรัพยากรภายในชุมชนในการช่วยลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนในชุมชน จากการถูกแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ  และเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้ เพื่อให้ระบบนิเวศคงความสมดุลย์  เนื่องจากป่าชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญที่เป็นช่องทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ จัดการ ฟื้นฟูให้ป่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น

3.ข้อเสนอ ป่าชุมชนกับความยั่งยืนโดยท้องถิ่น


1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต./อบจ.) ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร และจัดสรรงบประมาณอย่างน้อยร้อยละ 1 มาดูแลเรื่องป่าชุมชนตามแนวทางนิเวศวัฒนธรรม เช่น สืบชะตาป่า บวชป่า ปลูกป่า สำรวจแนวเขตป่า ดับไฟป่า แหล่งเรียนรู้ในการจัดการป่าชุมชน เป็นต้น
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต./อบจ.) และหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชนพัฒนาสู่งานวิจัยชาวบ้าน เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการป่าชุมชนสู่การเผยแพร่และสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักของคนในสังคม
3.ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการที่ส่งผลกระทบกับทรัพยากรท้องถิ่น โดยการประสานแกนนำแต่ละชุมชน จัดเวทีประชาคม เพื่อให้เกิดกระบวนการตัดสินใจจากชุมชน
4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต./อบจ.) ส่งเสริมให้เกิดการจัดทำข้อบัญญัติในการจัดการทรัพยารกรร่วมกันกับชุมชน โดยมีการกำหนดเป้าหมาย แผนการจัดการทรัพยากร และมีกลไกการประสานงานระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ เช่น สภาองค์กรชุมชน สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง
5.กลไกความร่วมมือในระดับจังหวัดมีบทบาทหน้าที่ในสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และติดตาม ตรวจสอบ ให้ข้อคิดเห็นต่อโครงการ/ กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่า 
6.หน่วยงานรัฐ ส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายและนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และลุ่มน้ำ เพื่อเท่าทันสถานการณ์และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
7.ส่งเสริมการปฏิบัติการในการจัดการป่าชุมชนของชุมชนและภาคประชาสังคมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40 % ตามนโยบายภาครัฐ
8.สถาบันการศึกษาส่งเสริมความรู้ นวัตกรรมการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เกษตรทางเลือกและพัฒนางานวิจัย รวมถึงการบูรณาการศาสนา วัฒนธรรม เชื่อมโยงความรู้การจัดการทรัพยากรกับชุมชน