RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

“อ้อมอกแม่อิง วันนี้ยังอุ่นดีอยู่ไหม”

07 September 2017
ไกรทอง เหง้าน้อย
ไม่ได้มาถามหาความอบอุ่นที่แม่เคยมี แต่อยากให้เพียงสำนึกในบุญคุณของแม่ที่เคยให้
Perspectives

ปลายเดือนกรกฏาคม ค่ำคืนที่ฝนกระหน่ำ ตลอดตั้งแต่หัวค่ำของเมื่อวาน ผ่านมาถึงรุ่งเช้าของอีกวัน นั่งคิดถึงพี่น้องชุมชนในลุ่มน้ำอิงที่แต่ละหมู่บ้านเริ่มหว่านดำ ปลูกนาตามฤดูกาลที่ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าทุกปี ฤดูน้ำมาเป็นช่วงเวลาของปลาที่จะต้องเดินทางว่ายทวนน้ำหาที่อยู่อาศัย ขยายพันธุ์ คนหาปลาในน้ำอิงในแต่ละชุมชนคงจะคึกคัก เริ่มจับปลาช่วงเวลาน้ำแดง ได้แต่ส่งไลน์ถามไถ่กัน  “ได่ปลาหนักก่อปีนี้   ได่ปลาค้าวโตใหญ่บ่" เสียงดังติงๆๆ รูปภาพที่ส่งมาแทนคำตอบ และข้อความตามา  “ม้าเด้อมากินลาบปลา” แทนคำพูดใดคือการแต่ละคนแสดงภาพปลาที่หาได้และถือโชว์กันของแต่ละชุมชน ให้ไค้อยากไปหาแต้ๆ  ปีนี้ปลาเยอะเพราะผลจากการจัดการและรักษากฏของชุมชนในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในเขตสงวน หรือวังสงวนพันธุ์ปลา กว่า 64 ชุมชน ตลอดแม่น้ำ  นี่คือวิถีชีวิตหาอยู่หากิน กับแม่น้ำที่ยังเหลืออยู่และสืบทอดกันมาตามยุคสมัย  แต่ที่นานี่สิหลายคนที่หว่านดำไปแล้ว  หลายพื้นที่ก็ท่วมหลายรอบแล้ว บางพื้นที่ก็เฝ้าระวังอย่างหายใจไม่ทั่วท้อง  น้ำปริ่มรอมร่อ ท่วม แล้ง  ก็ยังเป็นเช่นนี้ในทุกปี โชคดีก็ย่อมมีบ้าง  ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ผ่านพ้นปีนี้ไปได้และให้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ให้พอยิ้มได้  
 

นักลงทุนจีน เช่าที่ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง สาเหตุแห่งการแก่งแย่งน้ำและก่อให้เกิดสารเคมี
นักลงทุนจีน เช่าที่ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง สาเหตุแห่งการแก่งแย่งน้ำและก่อให้เกิดสารเคมี
สภาพแม่น้ำอิง ในช่วงฤดูแล้ง
สภาพแม่น้ำอิง ในช่วงฤดูแล้ง 


ฝนยังตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เคลิ้มไปกับเสียงฝนกระทบหลังคา  เวลานี้จะมีอะไรดีไปกว่านอนอ่านหนังสือ คิดถึงน้ำอิงจึง ได้หยิบเอาหนังสือ ปกชื่อว่าอ้อมอกแม่อิง อ่านแล้วก็ประทับใจกับเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดผ่านงานเขียนของนักพัฒนารุ่นใหญ่ ที่ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ทำงานในลุ่มน้ำอิง ตั้งแต่ต้นน้ำกว๊านพะเยา เรื่องมาจนถึงปลายน้ำแม่โขง เชื่อมโยงผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำ ชวนชุมชนคิด วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชนและความหลากหลายของทรัพยากร สู่การทำงานพัฒนาในพื้นที่จนก่อเกิดวังสงวนพันธุ์ปลามากมาย รวมทั้งเกิดการรวมตัวของพี่น้องลุ่มน้ำในนามสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาและวันนี้ก็ยังขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในงานพื้นที่และขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการจัดการ ลุ่มน้ำอิง-แม่น้ำโขง  พี่สมเกียรติ์ เขื่อนเชียงสา เจ้าของงานเขียน “อ้อมอกแม่อิง”ที่ได้รับรางวับลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2549 อ่านเสร็จก็คิดถึงปรากฏการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน แม่อิงที่เป็นแม่ผู้หล่อเลี้ยงลูกๆทั้งสรรพสิ่งมีชีวิต ผู้คน สัตว์ พืช นิเวศอันหลากหลาย ทุกวันนี้แม่อิงถูกกระทำย่ำยี และถูกท้าทาย จากการพัฒนาต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง แม่อิง คือฐานทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ที่ได้ตั้งรกรากถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำมายาวนาน ทั้งชุมชนเมือง ชุมชนหมู่บ้านท้องถิ่น ทั้งพี่น้องชุมชนอีสานที่อพยพมาอยู่อาศัย ชุมชนไทลื้อ และชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่ทั้ง2 จังหวัด พะเยา เชียงราย ผู้คนได้ร่วมกันใช้แม่น้ำอิงเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร การเกษตร และสาธารณูปโภคที่สำคัญ

มาวันนี้แม่อิง ที่พยายามโอบอุ้มลูกหลานให้กินดี อยู่ดี อบอุ่น กลับถูกเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่มาพร้อมกันการทำลาย หวังผลเพียงแค่เศรษฐกิจกระจุกตัวเฉพาะนายทุน ความเห็นแก่ตัวของผู้คน การพัฒนาที่ชุมชนไม่มีส่วนได้แสดงความคิดเห็น  การพัฒนาที่เข้ามาได้ละทิ้งแม่ไว้ข้างหลัง การเข้ามาของเกษตรแปลงใหญ่  สารเคมี  การทำสวนกล้วยหอมของคนต่างถิ่นที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้คนและแม่น้ำ การเข้ามาของนโยบายรัฐ ที่จะเอาผืนป่าแม่อิงไปพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นโรงงานอุตสาหกรรม สนองต่อเศรษฐกิจของนายทุนต่างชาติ มาวันนี้แม่ร่ำไห้  เหนื่อยโรยริน  แม่น้ำถูกแย่งชิงรุกรานจากคนที่แม่ไม่คุ้นหน้า อ้อมอกแม่ที่เคยอุ่น เคยเกื้อหนุนให้ลูกๆได้กินอิ่ม นอนอุ่น วันนี้แม่ใจสลาย อ้อมอกของแม่ที่เคยอุ่น มาวันนี้ยังอุ่นดีอยู่ไหม ??? คือคำถามที่ต้องใช้ความร่วมไม้ร่วมมือและสำนึกที่ต้องร่วมกันหลายภาคส่วนที่จะช่วยกันตอบคำถามนี้  และมันคงไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบหากแต่ต้องการสำนึกทุกคนกลับคืนมา  แม่เป็นผู้ให้ตลอดเวลา เราได้ให้อะไรกับแม่บ้าง  เราเอาไปจนแม่ไม่เหลืออะไรจะให้อีกแล้ว   เพียงอยากให้ทุกคนได้สำนึกเห็นคุณค่าของแม่น้ำอิง เพื่อยังเหลือความอบอุ่นสู่ลูกหลานต่อไป

พิธิสืบชะตาป่า แม่น้ำ
พิธิสืบชะตาป่า แม่น้ำ