RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

Wetland We care ส่งต่อความห่วงใย ให้แม่อิง ยั่งยืน

31 January 2019
ไกรทอง เหง้าน้อย
เมื่อเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมทางด้านดิน น้ำ ป่า ชุมชนในลุ่มน้ำอิงได้เกิดความตระหนักถึงสภาพปัญหา ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของชุมชนและเครือข่ายในพื้นที่เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาในลุ่มน้ำอิง ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
In Focus

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า ที่รวมเป็นลุ่มน้ำอิงตลอดความยาว 260 กิโลเมตรที่ไหลผ่านจังหวัดพะเยาและเชียงราย ลงสู่แม่น้ำโขง  เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศผืนเดียวกันกับแม่น้ำโขง ได้หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่มาอย่างยาวนานและประสานกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ เกิดเป็นความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติเชื่อมเป็นระบบการจัดการทรัพยากรที่หลากหลายตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำนา การประมงพื้นบ้าน การเพาะปลูกและการพึ่งพิงป่า ก่อเกิดเป็นภูมิทัศน์ลุ่มน้ำที่มีองค์ประกอบหลากหลาย  มีทั้งพื้นที่สูงซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ป่าเขา ทุ่งนา ชุมชน และพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง และมีน้ำท่วมขังได้กลายเป็นระบบนิเวศน์ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง  

ING Project

พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง มีความเป็นเอกลักษณ์นิเวศป่าชุ่มน้ำที่สำคัญ เหลือเพียงที่เดียวในภาคเหนือของประเทศไทย  มีความหลายทางชีวภาพ ของพรรณพืชที่โตในบริเวณน้ำท่วมขังกระทั่งน้ำแล้ง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์บก และนกน้ำนานาชนิด ทำหน้าที่ให้บริการเชิงนิเวศ โดยแบ่งบทบาทเป็นสองลักษณะตามฤดูกาล คือ ช่วงฤดูน้ำหลากจะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆและเป็นที่รองรับน้ำหรือตะกอน ช่วงฤดูน้ำแล้งจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับชุมชนในด้านต่างๆและเป็นแหล่งปรับสมดุลให้กับพื้นที่โดยรอบและเป็นระบบนิเวศเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง ที่เป็นแหล่งอพยพที่สำคัญของปลาและสัตว์ชนิดต่างๆในแต่ละช่วงฤดูกาล 

ภายใต้นโยบายการพัฒนาด้านต่างๆในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงต้องเผชิญกับการคุกคามอย่างมาก ที่จะทำให้ถูกเปลี่ยนสภาพ และความสมบูรณ์ลดลง มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เข้ามากระทบต่อภูมิทัศน์ลุ่มน้ำและวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำอิง   ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงยังไม่มีการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมายและไม่มีสถานะตามกฎหมายป่าไม้แต่อย่างใด แต่ได้รับการปกป้องรักษาให้คงความสมบูรณ์ไว้โดยชาวบ้านด้วยกฎระเบียบของแต่ละชุมชน   เกิดการร่วมแรง ร่วมใจ ประกอบด้วยชายหญิงจากผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นโดยรอบลุ่มน้ำอิง และภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในรูปแบบของการจัดการป่าชุมชน การจัดการเหมืองฝาย การอนุรักษ์ป่าริมน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา (วังสงวน)และการสร้างเครือข่ายชุมชน

ING Project

 

จากรูปธรรมความยั่งยืนที่เกิดขึ้นกว่า2 ทศวรรษ แสดงให้เห็นถึงพลังที่เข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำป่า และนิเวศวัฒนธรรม ในลุ่มน้ำอิง  เป็นกระบวนการที่มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กับภูมิทัศน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตตามฤดูกาล

และจากนโยบายการพัฒนาที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เกิดการดำเนินงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆในลุ่มน้ำอิง ที่ประกอบด้วยภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาสังคม เกิดกระบวนการร่วมมือ ควบคู่กับการสร้างกลไกกระจายอำนาจในการจัดการลุ่มน้ำรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศของแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากล่างขึ้นสู่บน 

สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ชาวบ้าน ภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำอิง และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภูมิทัศน์ลุ่มน้ำอิง ด้วยมีเป้าหมายที่ร่วมกันดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความสมดุลของการใช้ประโยชน์ที่ดินและฐานทรัพยากรชีวภาพในด้านต่างๆอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชุมชนในลุ่มน้ำอิง ได้เข้าถึงข้อมูลการพัฒนาลุ่มน้ำ และมีกลไกในการสื่อสาร ติดตามสถานการณ์ เกิดเป็นความร่วมมือ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการพัฒนาที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศและวิถีคนลุ่มน้ำอิง

เพื่อเป็นการส่งต่อความห่วงใย ให้แม่น้ำอิง ให้อยู่อย่าง ยั่งยืน ผ่านรูปธรรมการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำอิงอย่างบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ  เพื่อเป้าหมายความยั่งยืน สมดุล อย่างมีธรรมาภิบาล  จึงได้ร่วมกันพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอิงอย่างบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน       โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ควบคู่กับการนำเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง ๑๗ เป้าหมาย นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ING Project

2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ถือเป็นวันสำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องแม่น้ำอิง  สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ชุมชนลุ่มน้ำอิง ภาคประชาสังคม  ภาควิชาการ และภาครัฐทั้งท้องถิ่นและหน่วยงานระดับจังหวัด  ได้เล็งเห็นความสำคัญในการปกป้องรักษา อนุรักษ์และฟื้นฟู ฐานทรัพยากรในลุ่มน้ำอิงโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงได้ร่วมกันจัดงาน Wetland we care เนื่องวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก เพื่อประกาศเจตนารมณ์และส่งมอบความห่วงใยต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง ร่วมแสดงพลังและเจตจำนงในการผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้ได้รับการคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขของอนุสัญญาแรมซ่าร์  

  •      เพราะแม่น้ำอิงคือแม่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนกว่า 200,000 คนตลอดสายน้ำที่ไหลผ่าน
  •      เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงคือมดลูกของแม่น้ำอิงและแม่น้ำโขง ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสมดุลและก่อเกิดความหลากหลายทาง         ชีวภาพ ของระบบนิเวศลุ่มน้ำ
  •      เพราะป่าชุ่มน้ำคือความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของชุมชน
  •      เพราะป่าชุ่มน้ำคือแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ทำให้เราทุกคนบนโลกได้ใช้อากาศบริสุทธิ์ร่วมกัน
  •      เพราะเหตุนี้ เราจึงห่วงใย จะร่วมกันรักษาไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติให้ลูกหลาน

# Wetland we care ส่งต่อความห่วงใย ให้แม่อิง อยู่ อย่างยั่งยืน