RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

รวมพลนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง ยกระดับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการป่าชุมชน

24 December 2024
Nitchanun Tantapong
กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองนับเป็นก้าวแรกที่แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ป่าชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการป่าที่คำนึงถึงความเท่าเทียม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
Talk of the Forest
เจ้าหน้าที่รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนอบรมการวางแปลงให้กับสมาชิกจากป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ชุมชนสามารถระบุและเก็บข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมถึงติดตามสถานะของทรัพยากร
เจ้าหน้าที่รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนอบรมการวางแปลงให้กับสมาชิกจากป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ชุมชนสามารถระบุและเก็บข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมถึงติดตามสถานะของทรัพยากร

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก โดยมีป่าเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญของพืชและสัตว์อย่างละกว่า 15,000 ชนิด ป่าหลายแห่งเป็น ป่าชุมชนซึ่งมีการบริหารจัดการโดยชุมชนมาหลายชั่วอายุคนและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่อนุรักษ์ ป่าชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะแนวเชื่อมต่อภูมิทัศน์กับป่าอนุรักษ์ ช่วยให้พืชและสัตว์สามารถกระจายพันธุ์ และเรายังสามารถวางแผนใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านี้อย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลับยังไม่มีการให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการต่อยอดการจัดการป่าชุมชนเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนาเศรษฐกิจ

ภายใต้สภาวะโลกรวนที่กำลังทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลอย่างรุนแรง พืชและสัตว์ที่ปรับตัวไม่ได้เสี่ยงสูญพันธุ์ และชีวิตของคนทั่วโลกได้รับผลกระทบ เราจึงยิ่งต้องร่วมกันแก้ปัญหาและดึงศักยภาพของป่าชุมชนออกมาเพื่อดูแลปกป้องทรัพยากร ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยได้ร่วมรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) และจะต้องปกป้องฟื้นฟูร้อยละ 30 ของพื้นที่บนบก แหล่งน้ำในแผ่นดิน พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตามเป้าหมายของโลก แต่การนำแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไปปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่นั้นยังคงมีความท้าทาย

ลำพังกำลังของภาครัฐฝ่ายเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ป่าอย่างทั่วถึงทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งยังขาดข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และแม้ว่าชุมชนจะสั่งสมความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณและประโยชน์ของพืชและสัตว์ในป่ามานาน แต่ชุมชนยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเท่าที่ควรในฐานะผู้เก็บข้อมูลและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองหรือ Citizens’ Forest Master (CF Master) จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อหนุนเสริมการดูแลจัดการป่าและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

เส้นทางสู่การเป็นนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง

รีคอฟ (RECOFTC) และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) ประเทศไทยได้ริเริ่มและดำเนินกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง โดยมุ่งพัฒนาชุมชนและคนท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูงให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนเพื่อร่วมกันทำแผนการจัดการป่าโดยมีการนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและบริบทของป่าชุมชนมาประกอบการออกแบบแผน ตัวแทนชุมชนและคนท้องถิ่นที่เข้าร่วมกระบวนการได้เพิ่มพูนความรู้และใช้วิธีการกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจป่า จัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และประเมินสถานภาพของทรัพยากร

กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง
กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง

กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การทำความเข้าใจบริบทป่าชุมชน สภาพสังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มความท้าทายในอนาคต การเก็บข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและประมวลผลข้อมูล และการนำข้อมูลมาออกแบบแผนการจัดการป่าชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน

Ban Prao community forest in Sa Kaeo province is home to many plants that local people rely on for sustenance. As part of their community forest management plan, they are developing a nature trail where visitors can learn more about their local climate initiative.
ป่าชุมชนบ้านพร้าว จังหวัดสระแก้ว เป็นแหล่งพืชอาหารหลากชนิดสำหรับชุมชน และชุมชนยังวางแผนพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้ในป่าเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้แนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของชาวบ้านพร้าว

รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนช่วยเป็นพี่เลี้ยงพาทำและให้คำปรึกษากับนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง อัฉราภรณ์ ได้ไซร้ ผู้ประสานงานโครงการและกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง กล่าวถึงบทบาทของทั้งสององค์กรในการทำงาน กระบวนการนี้เป็นการเรียนรู้โดยเน้นการทำจริง ดังนั้น ความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน อัฉราภรณ์ได้อธิบายบทบาทของนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองต่อไปว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้นำที่ช่วยให้ชุมชนสามารถสำรวจป่าและเก็บข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ประเมินสถานะและความเสี่ยงที่อาจทำให้ทรัพยากรลดลง และนำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบแผนการจัดการป่าชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทและสามารถช่วยให้ชุมชนปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม เพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างมีธรรมาภิบาล

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองรุ่นที่ 1 มีจำนวน 51 รายจาก 27 ป่าชุมชนใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในบรรดานักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองเหล่านี้มีผู้หญิง เยาวชน และกลุ่มชาติพันธุ์ร้อยละ 30 

กระบวนพัฒนาศักยภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens’ Forest Network: CF-NET) ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของสมาชิกป่าชุมชนและภาคประชาสังคมจากทั่วประเทศตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เพื่อขับเคลื่อนบทบาทของชุมชนในการบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีธรรมาภิบาลร่วมกับภาครัฐ โดยสมาชิกเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองส่วนหนึ่งได้เข้ารับการพัฒนาศักยภาพในฐานะนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง และบางส่วนเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเฟ้นหาตัวแทนชุมชนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มชายขอบ

กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม เนื่องจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพจากป่าเป็นสิ่งที่คนทุกกลุ่มในชุมชนต่างต้องพึ่งพิง แต่ที่ผ่านมา ผู้หญิง เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ในชุมชนยังขาดโอกาสในการร่วมตัดสินใจเรื่องการจัดการป่าไม้และการใช้ประโยชน์ทรัพยากร ทั้งที่กลุ่มเหล่านี้ล้วนมีความรู้ความถนัดพิเศษที่จะช่วยเติมเต็มการจัดการป่าชุมชนได้ การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้หารือแลกเปลี่ยนกันเองและร่วมกับกลุ่มอื่น จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความความหลากหลายและความเท่าเทียมในการจัดการป่าชุมชน

Attendees of a participatory community forest management planning workshop held in Sakon Nakhon province.
การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการทำแผนการจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วมที่จังหวัดสกลนคร

เขมจิรา ชุมปัญญา นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง จังหวัดสกลนคร กล่าวว่าผู้หญิงควรได้รับการส่งเสริมอย่างยิ่งให้ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่า และผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และศักยภาพสูงในการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อชุมชน “ป่าชุมชนบ้านดอนกอยเด่นเรื่องผ้าย้อมคราม องค์ความรู้เรื่องสีของเปลือกไม้และการนำไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ผู้หญิง”

เขมจิรากล่าวต่อไปถึงความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญและส่งเสียงสนับสนุนการรวมตัวเป็นเครือข่าย “แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงเรา เช่น ความรับผิดชอบเรื่องครอบครัว ทำให้โอกาสที่จะได้มายืนในงานป่าไม้มีค่อนข้างน้อย เราจึงต้องรวมตัวกันเพื่อดึงผู้หญิงให้เข้ามามีบทบาทเบื้องหน้ามากขึ้นในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพจากป่า”

ขยายผลกระบวนการนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองสู่ระดับประเทศ

แม้ว่าจะมีการทำงานนำร่องเพื่อออกแบบแผนการจัดการป่าชุมชนผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองแล้วในป่า 27 แห่ง ประเทศไทยยังมีป่าชุมชนที่จดทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้แล้วอีกกว่า 11,000 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ถึงกว่าหกล้านไร่ และยังมีป่าอีกไม่น้อยที่บริหารจัดการโดยชุมชนแต่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ได้ โดยข้อมูลและแผนการจัดการป่าชุมชนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ชุมชนต้องยื่นให้กับภาครัฐเพื่อจดทะเบียน

เพื่อต่อยอดความสำเร็จก้าวแรกของการส่งเสริมชุมชนและคนหลากหลายกลุ่มให้เข้ามามีบทบาทในการวางแผนการจัดการป่าและทรัพยากร รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนกำลังพัฒนาคู่มือการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน โดยมีกรอบการทำแผนการจัดการป่าชุมชนของกรมป่าไม้เป็นฐาน พร้อมปรับปรุงแบบฟอร์มและพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ชุมชนอื่นสามารถเรียนรู้วิธีการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและทำแผนการจัดการป่าชุมชนได้ด้วยตนเอง

RECOFTC and ZSL staff guiding CF Masters on using a mobile application for conducting forest inventories.
เจ้าหน้าที่รีคอฟและสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนอบรมการใช้แอปพลิเคชันมือถือเพื่อสำรวจทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในป่าให้กับนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง

คู่มือดังกล่าวนี้จะนำเข้าสู่กระบวนการหารือและพัฒนาร่วมกับกรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อพัฒนาให้เป็นมาตรฐานที่ชุมชนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายผลสู่ป่าอื่นๆ ที่บริหารจัดการโดยชุมชนทั่วประเทศ

ต่อยอดข้อมูลเปิดจากชุมชน สู่โอกาสใหม่เชิงนิเวศและเศรษฐกิจ

นอกจากการนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพมาออกแบบแผนการจัดการป่าที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนแล้ว ข้อมูลที่นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองและชุมชนร่วมกันเก็บมายังเป็นข้อมูลที่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อสร้างประโยชน์อื่นๆ ให้กับทั้งชุมชนและสังคม โดยนำเสนอข้อมูลที่สังคมสนใจเกี่ยวกับป่าชุมชนและดึงดูดการสนับสนุนจากคนกลุ่มต่างๆ

The marine resources of Ban Nuea Nam community mangrove forest in Surat Thani province are the backbone of the community’s livelihoods and economy.
ทรัพยากรจากป่าชุมชนชายเลนบ้านเหนือน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วยหล่อเลี้ยงทั้งชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน

รีคอฟกำลังร่วมมือกับสถาบัน ChangeFusion ในการพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลป่าไม้ภาคพลเมือง thaicfnet.org ให้มีการรายงานข้อมูล ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ของป่าชุมชน โดยจะมีการแสดงข้อมูลในเชิงปริมาณและคุณภาพของป่าชุมชน รวมถึงข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นของป่าชุมชนนำร่อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่จะสามารถช่วยดึงดูดความสนใจจากภาคธุรกิจให้เข้ามาสนับสนุนชุมชน เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ การช่วยชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำตลาด นอกจากนี้ ข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับป่าชุมชนยังช่วยให้ชุมชนมีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อดูแลจัดการป่ามากขึ้น

ในปี 2568 รีคอฟมีแผนเปิดตัวการระดมทุนเพื่อให้ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปสามารถบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมในการบริหารจัดการป่าชุมชนตามแผนที่แต่ละชุมชนได้วางไว้ และผู้บริจาคจะสามารถดูรายงานผลกระทบเชิงบวกต่อป่าชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติ ESG ได้ทางเว็บไซต์ thaicfnet.org เราเชื่อว่าการรายงานผลดีที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนป่าชุมชนนี้จะตอบโจทย์ด้านความโปร่งใส เพิ่มความเชื่อมั่นจากบริษัทองค์กรต่างๆ ให้มาร่วมบริจาคเงินสนับสนุนป่าชุมชนมากยิ่งขึ้นวรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทยกล่าว

“ถึงแม้ว่าป่าชุมชนบางแห่งจะทำแผนการจัดการป่าชุมชนแล้ว แต่ใช่ว่าทางชุมชนจะมีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินกิจกรรมจัดการป่าตามที่ได้วางแผนไว้เสมอไป” วรางคณาอธิบาย “ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับป่าของตนเอง และเมื่อมีข้อมูลป่าและทรัพยากรแล้ว เราต้องเชื่อมโยงชุมชนกับกลุ่มผู้ที่สามารถบริจาคเงินสนับสนุนชุมชนได้ โดยช่วยให้ชุมชนได้พบกลุ่มคนที่มีความสนใจตรงกัน”

ในระยะยาว ข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพจากป่าชุมชนยังสามารถช่วยเติมเต็มข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในป่าของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะเป็นหลักฐานที่ช่วยเสริมสร้างความตระหนักในความสำคัญของป่าชุมชนต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รีคอฟหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเปิดโอกาสให้ป่าชุมชนได้รับการสนับสนุนมากขึ้นหรือไปถึงขั้นได้รับการยอมรับในฐานะพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง หรือ Other Effective Area-based Conservation Measures (OECMs) สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่จะต้องเพิ่มพื้นที่เหล่านี้ให้ถึงร้อยละ 30 ตามเป้าหมาย 30x30 

ชมวิดีโอแนะนำกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองได้ทางยูทูบ 

###

นิชนันท์ ตันฑพงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำรีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand)

กระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทย ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก Darwin Initiative โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (Thai CG Fund) โดย HAND Social Enterprise

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทยและเว็บไซต์ฐานข้อมูลป่าไม้ภาคพลเมือง 

งานของรีคอฟ (RECOFTC) เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของ Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) และ Government of Sweden