RECOFTC
Community-based Fire Management

เกี่ยวกับโครงการการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน

เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการไฟป่าในชุมชน เพื่อภูมิทัศน์ที่มีสุขภาพดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความยืดหยุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข้อมูลโดยสรุป 

  • โครงการมีระยะเวลา 2 ปี โดยเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567  
  • แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของไฟป่าและตอบสนองต่อข้อกังวลระดับชาติและระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของ ไฟต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน 
  • พัฒนาศักยภาพของชุมชนและรัฐบาลในการจัดการไฟป่าและการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม 
  • โครงการได้รับการสนับสนุนและดําเนินงานโดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาคห้าปีระหว่าง USDA Forest Service และ RECOFTC 

โครงการการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน (Community-based Fire Management หรือ CBFiM) ช่วยชุมชนและรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการลดความถี่และความรุนแรงของไฟป่า และเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และช่วยให้เกิดการแบ่งปันความรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

RECOFTC (รีคอฟ) ร่วมกับกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture Forest Service หรือ USDA Forest Service) ได้ร่วมทำงานกับองค์กรภาคีเครือข่ายหลากหลายในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยเริ่มจากพื้นที่ในสปป.ลาว ประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม โครงการได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินงานจากสถานการณ์ที่ผ่านมาในภูมิทัศน์ที่ถูกไฟป่าคุกคาม ความต้องการของชุมชน การใช้ที่ดิน และประเภทของระบบนิเวศ

 

Map showing four countries of CBFiM project engagement – Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam

 

แนวทางของโครงการ 

การจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานเป็นแนวทางที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นำความรู้ในท้องถิ่นมาใช้และเตรียมความพร้อมชุมชนในการป้องกันไฟ และช่วยในการควบคุมและใช้ไฟ แนวทางการจัดการไฟลักษณะนี้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในพื้นที่ป่าให้สามารถตัดสินใจได้ตามความต้องการของชุมชน และสามารถกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางปฏิบัติได้ภายในบริบทที่กว้างขึ้นของการจัดการไฟแบบบูรณาการ  

โครงการนี้ดำเนินการโดยอาศัยประสบการณ์ด้านวนศาสตร์ชุมชนของ RECOFTC วนศาสตร์ชุมชนเป็นคําที่มีความหมายกว้างโดยครอบคลุมถึงแนวทางที่ช่วยให้ผู้คนสามารถจัดการ ปกป้อง และได้รับประโยชน์จากป่าในท้องถิ่น ซึ่งเป็นป่าที่ชุมชนพึ่งพิงมาหลายชั่วอายุคน

ชุมชนในพื้นที่ป่ามีการใช้ประโยชน์จากไฟมาแต่เดิม เช่น เพื่อคุมวัชพืช แมลง และโรคต่างๆ และยังช่วยสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของมนุษย์หรือปัจจัยอื่นๆ ได้ก่อให้เกิดไฟ โดยส่วนมากมีสาเหตุมาจากมนุษย์ เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ป่ามักต้องอาศัยภูมิทัศน์ป่าไม้เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อหาอาหารและดำรงชีพ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในกรณีที่เกิดไฟที่เป็นอันตราย ดังนั้น ชุมชนจึงเป็นผู้ที่จะสามารถจัดการไฟป่าได้ดีที่สุดเช่นกัน

ความสําคัญของโครงการต่อภูมิภาค 

ไฟป่าที่รุนแรงเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์โดยก่อให้เกิดมลพิษในอากาศที่เราหายใจ และทําลายป่าที่คอยค้ําจุนชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ปัญหาไฟป่าในภูมิภาคกำลังทวีความรุนแรง โดยเกิดไฟป่าจำนวนมากขึ้น เกิดไฟขนาดใหญ่ขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น วิกฤตนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะเกิดไฟป่าที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึงร้อยละ 14 ภายในปีพ.ศ. 2573 ร้อยละ 30 ภายในสิ้นปีพ.ศ. 2593 และร้อยละ 50 ภายในสิ้นศตวรรษนี้ 

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่ามากขึ้น ปัญหานี้จึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผลกระทบข้ามพรมแดนของควันและหมอกควันจากไฟเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง ความรุนแรงและขอบเขตของปัญหาระดับโลกนี้ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่แย่ลงเป็นส่วนหนึ่งใน บรรดาผลกระทบด้านลบจากไฟไหม้ที่เกิดขึ้นยาวนานและบ่อยขึ้น ควันและหมอกควันจากไฟป่าสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้คน เช่น อัตราการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น  อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงฤดูไฟป่าเพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า แนวทางที่มีชุมชนเป็นฐานและมีผู้คนเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นแนวทางที่ได้ผลในการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกในชุมชนสามารถเป็นผู้ปฏิบัติในการรับมือกับปัญหา 

ชุมชนหลายแห่งที่ RECOFTC ทํางานด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟ และมีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางการจัดการไฟแบบบูรณาการโดยมีชุมชนเป็นฐานนั้นสามารถขยายผลต่อได้ทั่วทั้งภูมิภาค ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน โดยใช้ความรู้ของสมาชิกในชุมชนและดำเนินงานเพื่อให้นโยบาย แผน และแนวทางปฏิบัติมีความสอดคล้องและส่งเสริมวิถีชีวิตของชุมชน นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการให้ผู้หญิง เยาวชน และกลุ่มชายขอบอื่นๆ มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม 

กิจกรรมหลักของโครงการ 

โครงการการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน (CBFiM) เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของไฟป่าและผลกระทบทางนิเวศและสังคม กิจกรรมของโครงการได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความท้าทายในแต่ละประเทศ จังหวัด และชุมชน ได้แก่  

  1. เสริมสร้างนโยบาย แผน และแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน  
  2. ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับชุมชน 
  3. ช่วยให้เกิดการแบ่งปันความรู้ข้ามพรมแดนและระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการไฟป่า 

เสริมสร้างนโยบาย แผน และแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน 

เราเสริมสร้างนโยบาย แผน และแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานและดำเนินงานเพื่อให้นโยบาย แผน และแนวทางปฏิบัติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการทำงานทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และรัฐบาลของประเทศ ประการแรก เราใช้กระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการประเมินนโยบาย แนวทางปฏิบัติ การรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ศักยภาพ และลำดับความสำคัญในการทำงาน จากนั้น เราจึงพัฒนาศักยภาพในการทำแผนการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานและนำแผนไปปฏิบัติจริงอย่างมีส่วนร่วม แผนเหล่านี้อาศัยวิธีการจัดการป่าและจัดการไฟหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการเฝ้าระวัง การลาดตระเวน การทำแนวกันไฟ การกำจัดวัชพืช วนวัฒนวิทยา การฟื้นฟูป่า และการช่วยให้เกิดการเจริญทดแทนตามธรรมชาติ ชุมชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเพื่อใช้ความรู้ของชุมชนและเพื่อให้แน่ใจว่านโยบาย แผน และแนวทางปฏิบัติสอดคล้องและส่งเสริมวิถีชีวิตของชุมชน เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของผู้หญิง เยาวชน และกลุ่มชายขอบอื่นๆ ในงานทุกขั้นตอน

ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับชุมชน 

เราดำเนินการให้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ใช้ได้รับการออกแบบตามความต้องการและประสบการณ์ของชุมชน และสามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายเพื่อสนับสนุนการจัดการไฟป่า รวมถึงการประเมินเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ชุมชนใช้ในปัจจุบันหรือสิ่งที่ชุมชนอาจสามารถใช้ได้ในการจัดการไฟและเก็บข้อมูลและเข้าถึงข้อมูล เราช่วยให้เกิดการประสานเชื่อมโยงระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยีและชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถช่วยชุมชนจัดการไฟป่าได้ และการเชื่อมโยงผู้พัฒนาเทคโนโลยีกับชุมชนนี้จะทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการและความสนใจของชุมชน เช่น ผู้พัฒนาเทคโนโลยีอาจไม่เข้าใจว่าชุมชนต้องการแอปพลิเคชันมือถือในภาษาท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้และมีการแจ้งเตือนชุมชนเกี่ยวกับไฟและความเสี่ยงในการเกิดไฟ นอกจากนี้ เรายังช่วยฝึกอบรมชุมชนในการใช้เครื่องใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ

ช่วยให้เกิดการแบ่งปันความรู้ข้ามพรมแดนและระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการไฟป่า 

ช่วยให้เกิดการแบ่งปันความรู้ข้ามพรมแดนและระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการไฟป่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไฟเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ทั้งควันจากไฟ หมอกควัน และปัญหาภูมิทัศน์ถูกทำลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยที่พรมแดนของแต่ละประเทศไม่สามารถหยุดยั้งได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาอันตรายจากไฟที่ทวีความรุนแรงจึงต้องอาศัยแนวทางข้ามพรมแดนเช่นกัน เราสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน รัฐบาลระดับต่างๆ ในประเทศ องค์กรระดับภูมิภาคในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อาเซียนและสถาบันระดับโลก โดยหน่วยงานเหล่านี้ให้ข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน เราสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้โดยแบ่งปันแนวทางปฏิบัติให้กับแบบข้ามพรมแดน และการแบ่งปันข้อมูลและการวิเคราะห์ในทุกระดับสามารถช่วยให้เราพัฒนาการพยากรณ์และการเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้

ในการดำเนินโครงการ เราจะบันทึกข้อมูลและสาธิตแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดและช่วยให้ชุมชนและภาครัฐสามารถแบ่งปันนวัตกรรมให้แพร่หลายผ่านเครือข่ายของพวกเขา รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้และอบรมของรีคอฟ มิติหนึ่งที่สำคัญของงานนี้คือความเข้าใจ การให้คุณค่า และการแบ่งปันความรู้ในท้องถิ่นและแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมที่ช่วยป้องกันไฟ นอกจากนี้ ยังมีการมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับอื่นๆ ในการส่งเสริมนโยบายและการแก้ปัญหาแบบข้ามพรมแดนที่ช่วยให้เกิดการแบ่งปันความรู้  

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 

โครงการมีระยะเวลา 2 ปี โดยเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 

องค์กรภาคีเครือข่าย 

โครงการการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานหรือ CBFiM ดําเนินงานผ่านข้อตกลงความร่วมมือห้าปีระหว่างโครงการระหว่างประเทศของกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และ RECOFTC โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจําภาคพื้นอินโดแปซิฟิก (United States Indo-Pacific Command หรือ USINDOPACOM) ของกระทรวงกลาโหม รวมถึงเงินทุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และโครงการระหว่างประเทศของกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

Marina Tornorsam, Regional Project Coordinator, Community-based Fire Management
marina.tornorsam@recoftc.org, cbfim@recoftc.org